16/04/2024

สินค้าที่นอนและหมอนยางพาราไทยสู่ประเทศจีน (ตอนใต้)

 

 

ผู้เขียนและผู้เรียบเรียง

ดร. ภูมิพัฒณ์ พงศ์พฤฒิกุล วิทยาลัยบริหารธุรกิจนวัตกรรมและการบัญชี มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ดร. สุเทพ นิ่มสาย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล

 

ในการศึกษาโซ่อุปทานการส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ตอนใต้) ได้มีการทำการศึกษา ทบทวนวรรณกรรม การลงพื้นที่เข้าสำรวจ และสัมภาษณ์ผู้ประกอบการนำเข้าชาวจีน เพื่อให้เห็นภาพรวมของโซ่อุปทานการส่งออกที่นอนและหมอนยางพารา ของประเทศไทยไปยังประเทศจีน (ตอนใต้) อย่างไรก็ตาม การส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของไทยไปยังประเทศจีน (ตอนใต้) นั้น จะทำการส่งผ่านทางเส้นทางบก (ทางรถ) และ ทางน้ำ ผ่านทางท่าเรือแหลมฉบัง และ ท่าเรือสงขลา จากนั้นผู้นำเข้าจะทำการกระจายสินค้าไปยังตลาดปลายทาง ณ หัวเมืองต่างในประเทศจีน

ทั้งนี้จากการศึกษาถึงลักษณะประเภทผู้ประกอบการส่งออก (Exporter) ที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทย พบว่า ผู้ส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของไทยไปยังตลาดประเทศจีน (ตอนใต้) นั้นมีสอง ประเภทกลัก คือ

  1. ผู้ประกอบการรายใหญ่ในประเทศไทย คือ ผู้ประกอบการผลิตที่นอนและหมอนยางพารารายใหญ่ที่อยู่ในเขตภาคใต้ และภาคกลางจะเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกที่นอนและหมอนยางพาราของไทย โดยจะทำการส่งออกไปยังตลาดปลายทางอย่างประเทศจีน เกาหลีใต้และสปป.ลาว เป็นต้น
  2. ผู้ประกอบการส่งออกชาวไทย เป็นบริษัทหรือผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับการส่งออกโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำหน้าที่ประสานงานกับผู้นำเข้าในประเทศจีน (ตอนใต้) เพื่อจัดหาที่นอนและหมอนยางพาราตามคำสั่งซื้อของผู้นำเข้า

จากการศึกษาข้อมูลเพิ่มเติม จากสหกรณ์และวิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตที่นอนและหมอนยางพาราในภาคใต้ เบื้องต้นพบปัญหาและอุปสรรค ซึ่งสามารถจำแนกตามอุตสาหกรรมขั้นต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ดังนี้

อุตสาหกรรมต้นน้ำ

ปัญหาและอุปสรรคในอุตสาหกรรมต้นน้ำ ของอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยที่พบ ได้แก่ คุณภาพของน้ำยางข้นจากโรงงานน้ำยางข้นไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากมีปัจจัยด้านฤดูกาลเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยน้ำยางสดที่กรีดในฤดูฝนจะมีเปอร์เซ็นของน้ำเยอะมากกว่าปกติ

อุตสาหกรรมกลางน้ำ

ปัญหาและอุปสรรคในอุตสาหกรรมกลางน้ำ ของอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยที่พบ ได้แก่

1) มาตรฐานการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราของสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนแต่ละที่ มีความแตกต่างกันทั้งในด้านคุณภาพและเครื่องจักรหรือเทคโนโลยีในการผลิต อีกทั้งยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานที่ชัดเจนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

2) ปัญหาคุณภาพการผลิตที่ไม่สม่ำเสมอ เนื่องจากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนมีการใช้แรงงานในการผลิตเป็นหลัก ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการผลิตได้ อาทิ การเทน้ำยางข้นลงในแม่พิมพ์ โดยใช้แรงงานจะทำให้เกิดความล่าช้าในการเทน้ำยางลงแม่พิมพ์เนื่องจากน้ำยางข้นเซ็ตตัวเร็ว

3)  สหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน มีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อจัดตั้งโรงงานผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเอง เนื่องจากต้องใช้จำนวนเงินลงทุนสูง ซึ่งหากสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชนสามารถผลิตน้ำยางข้นด้วยตัวเองได้จะสามารถลดต้นทุนการผลิตที่นอนและหมอนยางพาราได้

4) สภาพอากาศและอุณหภูมิที่ร้อนเกินไปจะส่งผลกระทบต่อการผลิต โดยทำให้การตีน้ำยางข้นร่วมกับสารเคมีไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าที่ควร

 

 

อุตสาหกรรมปลายน้ำ

ปัญหาและอุปสรรคในอุตสาหกรรมปลายน้ำ ของอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราของประเทศไทยที่พบ ได้แก่

1) ที่นอนและหมอนยางพารามีราคาค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับที่นอนและหมอนทั่วไป อีกทั้งที่นอนและหมอนยางพารามีอายุการใช้งานที่ยาวนาน ประมาณ 6-7 ปี ทำให้อุปสงค์ต่อที่นอนและหมอนยางพาราต่ำ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังมีความต้องการที่แตกต่างกัน

2) มีการแข่งขันจากนักลงทุนชาวจีนที่เข้ามาตั้งโรงงานผลิตที่นอนและหมอนยางพาราขนาดใหญ่ในไทย ซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำเนื่องจากมีการใช้เครื่องจักรในการผลิตเป็นหลัก จึงสามารถขายที่นอนและหมอนยางพาราได้ในราคาต่ำกว่าสหกรณ์หรือวิสาหกิจชุมชน

3) ขาดนโยบายการส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้ที่นอนและหมอนยางพาราในประเทศ อาทิ การโฆษณาที่นอนและหมอนยางพาราของไทยให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง

 

 

เพื่อเป็นการเพิ่มศักยภาพให้แก่ผู้เกี่ยวข้อง ในโซ่อุปทานอุตสาหกรรมที่นอนและหมอนยางพาราในเขตภาคเหนือตอนบนของไทยให้มีประสิทธิภาพได้นั้น ผู้วิจัยจึงมีแนวทางการปรับตัวได้ ดังนี้

1. เกษตรกรรายย่อย กลุ่มเกษตรกร/สหกรณ์ ควรมีการรวมกลุ่มให้เป็น smart farm เพื่อการผลิตน้ำยางคุณภาพสูง-ส่งเสริมการใช้เทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัย มีการจัด zoning พื้นที่ผลิตที่เหมาะสมกับทรัพยากรในท้องถิ่นและตลาดรับซื้อ

2. พ่อค้าคนกลาง/จุดรับซื้อ และโรงงานแปรรูปในท้องถิ่น ควรมีมาตรฐานกลางที่ใช้ในการซื้อขาย มีการส่งเสริมเครือข่ายผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาจุดรับซื้อ พัฒนาระบบโลจิสติกส์ และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือ

3. โรงงานแปรรูปขนาดใหญ่ เพื่อพัฒนาโซ่คุณค่า ศึกษาความต้องการของตลาด รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมในแต่ละตลาด

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *