25/04/2024

การส่งออกทุเรียนไทยไปยังประเทศจีน

 

 

ผู้เขียนและเรียบเรียง

ดร.ภูมิพัฒณ์พงศ์พฤฒิกุล มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

ดร.สุเทพ นิ่มสาย วิทยาลัยการจัดการมหาวิทยาลัยมหิดล

 

ทุเรียนเป็นกลุ่มผลไม้ที่สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยเป็นอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา และในกลุ่มสินค้าหลักของไทยที่ส่งออกไปยังประเทศจีน ไม่พูดถึงทุเรียนคงจะไม่ได้ เนื่องจากทุเรียนอยู่ในกระแสข่าวทั้งทางด้านราคาท รสชาติ และในด้านการแข่งขันกับประเทศต่างๆอยู่ตลอดเวลา ทุเรียนจัดอยู่ในกลุ่มสินค้าประเภทผลไม้สด แช่แข็ง แช่เย็นและอบแห้ง ซึ่งถือเป็นสินค้าที่ติดอยู่ใน 15 อันดับที่มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนมากที่สุด ในปี 2๕60 มีมูลค่าการส่งออกไปยังประเทศจีนทั้งสิ้น 22,396.91 ล้านบาท จากมูลค่าส่งออกทั้งหมด 75,700.46 ล้านบาท ขณะที่ประเทศซึ่งนำเข้าสินค้าประเภทนี้จากไทยเป็นอันดับ 1 คือประเทศเวียดนาม มีมูลค่าทั้งสิ้น 34,867.58 ล้านบาท แต่จีนก็ยังถึงว่าเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ เพราะความเป็นจริงแล้ว อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เคยอธิบายกับบีบีซีไทยว่า ผลไม้ที่ส่งออกไปเวียดนามนั้น บริโภคภายในประเทศเวียดนามเพียงร้อยละ 30 ที่เหลือนำไปแปรรูปหรือติดฉลากว่า Made in Vietnam เพื่อส่งไปขายในจีนต่อ โดยอาศัยความได้เปรียบทางด้านภาษี ตัวเลขการส่งออกที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี ประกอบความต้องการซื้อที่มหาศาลจากประเทศจีน ดูแล้วจะเป็นไปในทางที่ดี เกษตรกรไทยในเวลานี้ต่างปลูกทุเรียนหมอนทองกันเพิ่มมากขึ้น กระนั้นก็ตามประเทศไทยไม่ใช่ประเทศเดียวที่สามารถปลูกทุเรียนได้

คู่แข่งสำคัญของไทยคือ มาเลเชีย ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ[ ระบุว่ามาเลเชียในปี 2560 มีพื้นที่ปลูกทุเรียนซึ่งให้ผลได้แล้วทั้งสิ้น 319,053 ไร่ จากพื้นที่ปลูกทั้งหมด 441,298.75 ไร่ ในปี 2558 มีผลผลิตทั้งสิ้น 368,270.7 ตัน หากเทียบกับไทยมาเลเชียมีพื้นที่ปลูกน้อยกว่าไทยครึ่งหนึ่ง แม้พื้นที่ปลูกและผลผลิตจะน้อยกว่าเราแต่มาเลเชียมีจุดเด่นที่สายพันธุ์ทุเรียนซึ่งได้รับการยอมรับในระดับ Premium Grade นั่นคือ พันธุ์มูซานคิง เป็นพันธุ์พื้นเมืองของมาเลเชียและได้รับการขนานนามว่าเป็น “ราชาแห่งทุเรียน” เพราะมีรสชาติดี เนื้อเนียนสีแหลืองเข้ม รสชาติหวานมัน มีกลิ่นเฉพาะตัว และเป็นที่นิยมของชาวจีน มูซานคิงมีราคาสูงกว่าหมอนทองมาก ตกกิโลกรัมละประมาณ 300-400 บาท

 

 

สำหรับการส่งออก ในปี 2559 มาเลเซียส่งออกทุเรียนในรูปผลไม้แช่แข็งในปริมาณราว 1,300 ตัน มีตลาดส่งออกหลักอยู่ที่จีน คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78 ของการส่งออกรวมทั้งหมด ขณะที่รัฐบาลมาเลเชียกำลังสนับสนุนให้เกษตรกรปลูกทุเรียนเพิ่มมากขึ้น เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อปีให้มากถึง 303,000 ตัน คุณสัญชัย ปุรณะชัยคีรี ในฐานะผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของไทยเห็นว่า หากย้อนหลังกลับไปเมื่อ 10 ปีก่อน ต้องยอมรับว่าไทยเป็นประเทศเจ้าผลไม้แห่งเอเชีย แต่ในวันนี้ไทยเริ่มมีคู่แข่งที่แข็งแรงเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ สำหรับทุเรียน ประเทศไทยเคยขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนดีที่สุดในโลก แต่วันนี้อาจไม่ใช่แล้ว เพราะเวลานี้ทุเรียนที่ขึ้นชื่อว่าดีที่สุดในโลกอยู่ในประเทศมาเลเชีย โดยมูซานคิงได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดทุเรียนโลก สถานการณ์ในวันนี้มาเลเชียเป็นประเทศที่ผลิตทุเรียนคุณภาพดีที่สุด เพียงแต่ปริมาณยังน้อยเกินไป

ผู้ส่งออกผลไม้รายใหญ่ของประเทศไทยระบุด้วยว่า เวียดนาม เองก็กำลังขึ้นมาเป็นคู่แข่งสำคัญของไทย เพราะมีการแข่งผลิตทุเรียนหมอนทอง โดยมีการส่งออกทุเรียนไปยังประเทศจีนวันละประมาณ 500 ตัน ขณะเดียว กันมาตราการในการจัดการคุณภาพทุเรียนของไทยเองก็ด้อยลง เพราะมีการตัดทุเรียนอ่อน และกำลังจะเป็นปัญหาการส่งออกทุกเรียนในอนาคตอันใกล้ หากเทียบกันมาเลเชียมีทุเรียนที่คุณภาพดีกว่า ส่วนเวียดนามมีต้นทุนในการขนส่งน้อยกว่า ใช้เวลาเดินทางเพียง 18 ชั่วโมงขณะที่ไทยใช้เวลาส่งทุเรียนไปยังประเทศจีนประมาณ 3 วัน สุดท้ายแล้วประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ส่งออกที่ได้แต่ปริมาณ คุณค่าไม่ได้ ซึ่งภาวะนี้มีความอ่อนไหวกับตลาดมาก เป็นเรื่องที่ต้องเร่งแก้ไข

 

 

ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า ในช่วง 10 ปี ที่ผ่านมาเวียดนามได้เปลี่ยนไปปลูกทุเรียนพันธุ์ใหม่แทนพันธุ์ท้องถิ่น ซึ่งพันธุ์ที่เลือกปลูกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์หมอนทอง มีสัดส่วนร้อยละ 40 ของพื้นที่ปลูกทุเรียนทั่วประเทศ ดังนั้น ประเทศมาเลเซียและประเทศเวียดนามจึงเป็นประเทศคู่แข่งในอุตสาหกรรมทุเรียนที่สำคัญที่จะต้องทำการศึกษา และในการศึกษาครั้งนี้ โดยมุ่งเน้นศึกษาในตลาดเดียวกันคือตลาดของประเทศอินเดีย

นอกจากประเทศมาเลเชียที่ถือเป็นคู่แข่งสำคัญของไทยแล้ว  ข้อมูลจากกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ยังเผยข้อมูลให้เห็นว่า อินโดนีเซียเองก็เป็นประเทศที่ปลูกทุเรียนได้มากถึง 1 ล้านตันต่อปีในปี 2559 จากพื้นที่ปลูกทั้งหมดเพียง 382,787 ไร่ ส่วนใหญ่เน้นบริโภคภายในประเทศ ฟิลิปปินส์เองก็ปลูกทุเรียน 103,856.25 ไร่ มีผลผลิต 71,444 ตัน ในขณะที่เวียดนามปลูกทุเรียนทางตอนใต้ในสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง มีพื้นที่ปลูก 168,759 ไร่ ให้ผลผลิต 259,436 ตัน ส่วนกัมพูชา มีพื้นที่ปลูก 7,456 ไร่ ได้ผลผลิต 3.3 หมื่นตัน ทั้งหมดนี้คือหลักฐานที่ชี้ให้เห็นว่าแม้ปัจจุบันไทยยังเป็นแชมป์ส่งออกทุเรียน แต่สถานการณ์ที่เป็นอยู่นี้คือ ความท้าทายที่มีต่อประเทศเพื่อนบ้านทั้งหลาย

ในการขนส่งทุเรียนของประเทศไทย เนื่องจากรูปแบบการขนส่งทุเรียนทางทะเล จะมีการบริหารจัดการที่ซับซ้อนมากกว่าสินค้าอื่นๆ ประกอบกับในปีนี้ไทยส่งออกทุเรียนเพิ่มขึ้นมาก จนผู้ส่งออกต้องแย่งตู้ขนส่งสินค้า ส่วนค่าขนส่งทุเรียนทางบกราคาขึ้นมาอยู่ที่คันรถละ 16,000 บาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30% เช่นกัน

สำหรับสินค้าทุเรียนในตลาดต่างประเทศ ต้องการความสุกระหว่าง 75-85% เนื่องจากระยะเวลาการจัดส่งจะทำให้ทุเรียนสุกพอดี โดยเฉพาะในแต่ละมณฑลของจีน ซึ่งเป็นตลาดหลัก ระยะเวลาขนส่งไม่เท่ากัน และหากสุกเกินกว่า 75-85% จะเป็นสินค้าตกเกรด และถูกกดราคาจากผู้ซื้อทันที อย่างไรก็ตาม ปัญหาของไทยขณะนี้คือ เกษตรกรไม่รวมกลุ่มกัน จึงไม่สามารถทำข้อตกลงในลักษณะเซอร์วิส คอนแทกต์ได้ อีกทั้งการรวมปริมาณสินค้าทำได้ยากเพราะเกษตรกรมุ่งเน้นขายให้กับล้ง   

 

 

ทุเรียนสดจากประเทศไทย  ได้รับอนุญาตจากสำนักควบคุมคุณภาพ และตรวจสอบกักกันโรคแห่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน (General Administration of Quality Supervision Inspection and Quarantine of People Republic of China – AQSIQ)    ให้เป็นทุเรียนสดจากประเทศเดียวที่สามารถนำเข้าไปจำหน่ายในประเทศจีนได้ โดยนับว่าเป็นสินค้าชั้นสูง (Hi-End)

สำหรับกฎระเบียบในการนำเข้าผลไม้ไทยสู่ประเทศจีน ฝ่ายไทยมีข้อกำหนดไว้ว่า

  1. ทุเรียนต้องมาจากแปลง GAP (Good Agriculture Practices) หรือแปลงที่มีการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีและเหมาะสม   ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
  2. ผ่านโรงคัดบรรจุที่ได้รับการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
  3. มีใบรับรองสุขอนามัยพืชแนบไปพร้อมกับสินค้า
  4. มีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิด หรือหนังสือรับรองแหล่งกำเนิด (Certificate of Origin) หรือ Form E5ส่งเข้าตามด่านนำเข้าผลไม้ที่ประเทศจีนกำหนดเพื่อที่ทางประเทศจีนจะได้จัดเตรียมเจ้าหน้าที่ ที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องศัตรูพืชในพืชนั้น ๆ ตรวจสอบเมื่อสินค้ามาถึงด่าน

 

 

และฝ่ายจีน ผู้นำเข้าต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล  บริษัทอยู่ในประเทศจีน   ยื่นขอใบอนุญาตตรวจสอบกักกันโรคกับ AQSIQ   เพื่อชี้แจงชนิดผลไม้ที่จะนำเข้า ปริมาณ ด่านที่นำเข้า  เพื่อให้ทางประเทศจีนมอบหมายเจ้าหน้าที่ดำเนินการ  ณ ด่านตรวจพืชที่ได้แจ้งไว้ในใบขออนุญาต  แต่ถ้าเส้นทางการขนส่งผ่านฮ่องกง   จะต้องผ่านการตรวจสอบของ CIC   โดยจะตรวจสอบ 3 สิ่ง  ได้แก่ ตู้คอนเทนเนอร์ บรรจุภัณฑ์  และใบรับรองสุขอนามัยพืช ซึ่งผู้นำเข้าจะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มตามที่กำหนด

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *