25/04/2024

จีน : ผู้นำระเบียบโลกใหม่

 

 

รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม

ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

การเติบโตทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งแบบก้าวกระโดดในช่วง 4 ทศวรรษ  การพัฒนาทางด้านการทหารที่ประกาศว่ากองทัพไม่ได้มีไว้แค่แสดงการสวนสนาม  และเกมการเมืองระหว่างประเทศที่มี ความเป็นผู้นำในเวทีโลก  มีความแข็งกร้าวขึ้นและพร้อมจะตอบโต้กับมหาอำนาจเก่าตะวันตก  คือสัญญาณการเสื่อมสลายของ “ระเบียบโลกเก่า” พร้อมๆกับกำเนิดของ “ระเบียบโลกใหม่” ที่มีสาธารณรัฐประชาชนจีนถือธงนำหน้ากระนั้นหรือ  กองบรรณาธิการ The Leader Asia ได้มีโอกาสสนทนากับ รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม ผู้อำนวยการศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

 

บทบาทของจีนในเวทีโลกปัจจุบัน

จีนมีPosition ชัดเจนว่าเป็นประเทศกำลังพัฒนาที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในโลก  และสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน  ผ่านกลไกพหุภาคี  และจีนอาจใช้คำสวยๆว่า  “การสร้างประชาคมที่มีอนาคตหรือชะตากรรมร่วมกันของมวลมนุษยชาติ”  สำหรับไทยเรานั้นวิธีการคิดเช่นนี้เป็นการคิดที่ถูกต้องทั้งโดยหลักธรรมชาติ  ในเมื่อจีนคือเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดก็ต้องมีภารกิจที่จะสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตต่อไปได้  ในแง่ของประชากร  จีนเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก  เขาจึงสามารถเป็นพลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลกได้  ในแง่ประวัติศาสตร์  จีนพูดตลอดเวลาว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนานมากกว่า 5,000 ปี  เขาอยู่มานานที่สุดจึงมีความชอบธรรมที่จะเป็นผู้นำได้  ดังนั้นโดยทางธรรมชาติเขาเป็นผู้นำอยู่แล้ว  เราจึงไม่ควรที่จะไปทำอะไรที่เป็นการต่อต้านหรือฝืนธรรมชาติเพราะในที่สุดคนเราก็ฝืนธรรมชาติไม่ได้  ดังเช่นที่เราฝืนธรรมชาติแล้วเจอโลกร้อน  ฝืนแล้วเจอโรคอุบัติใหม่

คำถามต่อมา  แล้วโมเดลของจีนนั้นดีเพียงพอที่จะเป็นผู้นำของโลกได้หรือเปล่า  ถ้าในเรื่องของเศรษฐกิจคุณจะเรียกมันว่าสังคมนิยมอัตตลักษณ์จีนตามแนวคิดสี จิ้นผิง สำหรับยุคใหม่หรืออะไรก็ตาม  แต่เราก็ต้องยอมรับว่ามันเป็นส่วนผสมระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมที่ถูกทดลองใช้ในจีนมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน  และพิสูจน์ตัวเองด้วยระยะเวลาไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการปกครอง  รูปแบบเศรษฐกิจมาในระดับหนึ่งแล้ว  ดังนั้นสำหรับจีนเป็นโมเดลที่ถูกต้อง  แต่ข้อดีของจีนคือจีนไม่เคยบังคับว่าคนอื่นจะต้องใช้โมเดลของจีน  จีนจะแตกต่างจากยุโรปและอเมริกา   ในช่วงสงครามเย็นจีนก็ไม่ได้เป็นสังคมนิยมที่เกรี้ยวกราดก้าวร้าวแบบโซเวียต

สหรัฐอเมริกาใช้ประชาธิปไตยมีประธานาธิบดีแล้วดี  ระบบกลไกการตลาดแบบอเมริกาใช้ในอเมริกาแล้วดีจริงๆ  อเมริการักเพื่อนเลยบังคับให้ทุกคนใช้แบบเดียวกับที่อเมริกาคิดว่าดี  ซึ่งคำถามคือบริบทของไทย  มาเลเซีย ปาปัวนิวกินี  เหมือนอเมริกาไหม

 

 

กลับมาถามว่าแล้วใช้หลักการอะไรที่จะให้จีนเป็นผู้นำ  หลักการสำคัญของจีนที่เคยพูดสมัยโจว เอิน ไหล กล่าวกับ ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู(อดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของอินเดีย) เมื่อทศวรรษ 1950 คือ “Five Principles of Peaceful Coexistence ” หรือ 5 หลักการของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ  ประกอบด้วย 1.การเคารพซึ่งกันและกันในเรื่องของอำนาจอธิปไตย  2.เคารพซึ่งกันและกันในเรื่องของบูรณภาพแห่งดินแดน   3.เคารพซึ่งกันและกันในเรื่องของกิจการภายในของแต่ละประเทศ  4.การแสวงหาผลประโยชน์ร่วมกันและเอาผลประโยชน์ที่ได้มาแบ่งกันเพื่อนำไปสู่  5.การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

อย่างไรก็ตามในข้อ 4 นั้นเราก็ต้องพึงระวังเพราะขนาดที่แตกต่างกันทั้งเศรษฐกิจ ประชากร กองทัพ  อำนาจการต่อรองที่แตกต่างกัน  จะบางปันผลประโยชน์อย่างยุติธรรมหรือเปล่า  เรื่องนี้ประเทศที่รับความช่วยเหลือ รับความร่วมมือกับจีนอาจจะต้องเก็บไว้ในใจด้วย  ว่ามีผลประโยชน์ร่วมกับจีนนั้นถูกต้อง  แต่อำนาจการต่อรองที่จะแบ่งปันผลประโยชน์กับจีนอย่างยุติธรรมมีหรือเปล่า  ถ้าไม่มีก็ต้องเร่งหาวิธีการ  เช่นไทยเวลาคุยกับจีนก็ต้องคุยในลักษณะของอาเซียน  ประเทศเล็กประเทศน้อยตลอดเส้นทาง BRI ก็ควรต้องคำนึงถึง   ทุกประเทศมีภารกิจในการปกป้องผลประโยชน์ของชาติจีนก็ต้องปกป้องผลประโยชน์ของเขา  เมื่อผลประโยชน์ออกมา 100 แล้วจีนต้องการ 95 มันก็เป็นสิ่งที่เขาต้องทำ  เพราะถ้าเราทำได้เราก็ต้องทำแบบนั้น  ประเทศเล็กจึงต้องสร้างอำนาจต่อรองว่าผลประโยชน์ที่ได้ต้องแบ่งปันกันอย่างยุติธรรมนะ  แต่ยุติธรรมก็อาจจะไม่ใช่ 50 : 50 นะ  มันขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละประเทศ

 

โมเดลจีนดีพอที่จะเป็นผู้นำโลกหรือเปล่าในปัจจุบัน

บทบาทในความเป็นผู้นำโลกของจีนนั้นมันเป็นไปแล้ว  คุณคงไม่สามารถจะไปขัดขวางมันได้  ถ้าถามว่าเป็นโมเดลที่ดีพอหรือเปล่า  ในความจริงคือยังไม่มีโมเดลที่ดีที่สุด  ดังนั้นเมื่อเกิดขึ้นแล้วเราก็ต้องปรับตัวให้อยู่กับโมเดลนี้ให้ได้  ขณะเดียวกันก็ต้องรู้จักเจรจากับนานาประเทศเพราะยุโรปกับอเมริกาก็ยังเชื่อในโมเดลเดิม  เขายังบังคับให้ทุกคนเป็น Western Liberal Democracy ทั้งๆที่ในความเป็นจริงแต่ละประเทศควรจะมีอิสระในการกำหนดชะตากรรมของตัวเอง

สิ่งที่ถูกต้องคือประเทศเล็กประเทศน้อยไม่จำเป็นต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของประเทศใหญ่  แต่ละประเทศควรสามารถคิดรูปแบบที่จะกำหนดชะตากรรมประเทศของตัวเอง  แต่ตะวันตกไม่เคยยอมรับเรื่องนี้  และตะวันตกคิดว่าจีนจะทำเหมือนกับตัวเอง  ตะวันตกยังคงหลงเชื่อว่าตัวเองยังคงเป็นเจ้า  คิดว่าคนอื่นจะมาแข่งเป็นเจ้า

สหรัฐอเมริกามีการจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ( National Security Strategy) ปี 2017  ซึ่งกำหนดทิศทางการทำนโยบาย  การดำเนินยุทธศาสตร์ของรัฐบาล  ทั้งรัฐบาลท้องถิ่น รัฐบาลมลรัฐ และรัฐบาลกลาง  โจ ไบเดน เข้ามาก็แค่ปรับนโยบาย 4 ปีให้เข้ากับยุทธศาสตร์นี้เท่านั้น  ไม่ว่าพรรคไหนมา  ไม่ว่าประธานาธิบดีจะเปลี่ยน  แต่ก็จะเดินตามยุทธศาสตร์เป้าหมาย 4 ข้อในระยะยาว

1.ด้านความมั่นคง  รักษาชีวิตคนอเมริกัน  พิทักษ์ดินแดนมาตุภูมิและวิถีชีวิตอเมริกัน  ซึ่งเขามองภัยคุกคามว่าหนึ่งในนั้นคือจีน  2.สร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ  และเขามองว่าคู่แข่งทางเศรษฐกิจที่สำคัญคือจีน  3.พิทักษ์รักษาวิธีคิดแบบเสรีนิยมประชาธิปไตย  ซึ่งเขามองว่าภัยคุกคามคือจีน  4.เขายังคงเป็นคนจัดระเบียบโลก  ซึ่งชาติที่มีศักยภาพพอที่จะเบียดเขาได้คือจีน

ดังนั้นเมื่อ 4 เป้าหมายทางยุทธศาสตร์ของสหรัฐฯมีจีนเป็นภัยคุกคามจึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะเห็นวิธีการดำเนินยุทธศาสตร์ ปิดล้อมจีน  ปะทะกับจีน

 

 

ระเบียบโลกเก่ากับใหม่

ระเบียบโลกที่ผ่านมาเป็นขั้วเดียว ( Unipolarity ) ตั้งแต่โซเวียตล่มสลายในปี 1991 จึงมีแต่สหรัฐอเมริกาในการจัดระเบียบโลกผ่านกองกำลังสหรัฐฯ  และองค์การระหว่างประเทศ  ระเบียบที่เกิดขึ้นนั้นก็มีผู้ที่ใช้ประโยชน์จาเติบโตขึ้นมาหลายๆประเทศรวมทั้งจีนด้วย  จีนก็รับกฎเกณฑ์ต่างๆของ WTO ( องค์การการค้าโลก) และพัฒนาตนเองขึ้นมา  จนตอนนี้ชาติที่มีศักยภาพเพียงพอที่จะท้าชิงความเป็นเจ้าได้ก็น่าจะเป็นจีน

แต่ระเบียบโลกที่ถูกต้องนั้นควรจะเป็น Multipolarity  ที่ไม่จำเป็นว่าจะแค่จีนหรือสหรัฐอเมริกา  แล้วกลับเข้าสู่ยุคสงครามเย็น  เป็น Bipolarity เพียงสองขั้ว  ควรจะเป็นโลกหลายขั้วได้  ยุโรปก็ควรมีบทบาทในการกำหนดกฎกติกา   ประเทศไทยและอาเซียนก็ควรจะมีบทบาท  เพราะโลกเป็นที่ๆทุกคนอยู่รวมกัน  เมื่อด้านการค้าเป็นพหุภาคีนิยม (Multilateralism ) ประเทศเล็กประเทศน้อยมีบทบาทมากยิ่งขึ้นในการกำหนดนโยบายต่างๆ เช่น องค์การการค้าโลก  ในด้านการเมืองก็อยากให้สิทธิในการโหวตของ IMF (กองทุนการเงินระหว่างประเทศ)   น่าจะกระจายตัวมาในเอเชียใต้ แอฟริกา ไม่ใช่กระจุกตัวอยู่กับชาติยุโรปและอเมริกา

ระเบียบโลกใหม่ที่อยากจะเห็นควรจะเป็นพหุภาคีนิยม  ควรจะเป็นหลายขั้ว  ที่ทุกประเทศควรมีส่วนกำหนดกฎกติกาด้วยกัน  แต่มันก็ยาก  ช่วงนี้เป็นการปะทะกันของสองขั้วอำนาจ  คือจีน กับพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาที่จะปิดล้อมจีน    ตอนนี้กำลังมีการปรับตัวสู่สมดุลใหม่  แต่สมดุลใหม่ยังไม่เกิด  ถ้าเกิดแล้วต้องไม่มีสงครามรัสเซีย-ยูเครน หรือการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ

ความจริงขณะนี้อาหารและพลังงานในโลกไม่ได้ลดลง  แต่โลกกลับเจอวิกฤติด้านอาหารและพลังงาน  วิกฤติเงินเฟ้อ  ก็เพราะมีการคว่ำบาตรเศรษฐกิจ  มีการกีดกันทางการค้า  ประเทศเล็กประเทศน้อยจึงได้รับผลกระทบหนักที่อาจจะลามไปยังประเทศระดับกลาง

เกมส์จะแฟร์เพลย์หากมีกฎกติกาที่ชัดเจน  กรรมการที่ชัดเจน และผู้เล่นที่มีแต้มต่อเพื่อความยุติธรรม  แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือบางประเทศพยายามเป็นคนร่างกติกา  เป็นกรรมการ และเป็นผู้เล่นที่มีแต้มต่อซึ่งไม่แฟร์

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *