20/04/2024

เมื่อลมหายใจยังมี หมั่นทำความดีให้ถึงที่สุด โชคดี ที่มีลมหายใจ บทธรรมที่กลั่นเพื่อคุณค่าแห่งทุกลมหายใจ

สำนักพิมพ์วิช ร่วมกับ สำนักพิมพ์บุ๊คสไมล์ เปิดตัวหนังสือธรรมะ โชคดีที่มีลมหายใจ “ลมหายใจยังมี ทำความดีให้ถึงที่สุด”

 “โชคดีที่มีลมหายใจ” หนังสือที่รวบรวมธรรมะบรรยายในวาระต่าง ๆ ของ พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์ (พระมหาวีรพล วีรญาโณ) พระธรรมวิทยากร ประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดยานนาวา ผ่านเรื่องเล่าที่สอนให้เรารู้ว่า จงรู้สึกถึงความโชคดีที่เรายังมีลมหายใจ และได้เริ่มต้นชีวิตในแต่ละวันอย่างมีคุณค่า แม้ที่ผ่านมาจะทำสิ่งใดผิดพลาด แต่ชีวิตที่เหลืออยู่ คือโอกาสสำคัญที่จะได้เปลี่ยนแปลงตนเองให้ดีขึ้น

 มีคนมาชมเรา โยมชอบไหม ?

มีใครมาด่าเรา โยมเกลียดไหม ?

ในแต่ละวัน ชีวิตเราชมคนอื่น กับนินทาคนอื่น โยมทำสิ่งไหนมากกว่ากัน ?

หากมีใครมานินทาว่าร้าย ภาวนาในใจบ่อย ๆ ว่า “ปากคุณ หูฉัน” เราห้ามปากเขาไม่ได้ ห้ามหูเราน่าจะง่ายกว่า แต่ทุกครั้งที่เราคิด พูด ทำ สิ่งที่แสดงออกไปคือผลที่จะกลับมาหาตัวเรา เพราะทุกอย่างเป็นไปตามแรงโน้มถ่วงของโลก ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเกื้อกูลกันอยู่

“เรายกย่องเขา เขาก็ยกย่องเรา

เราเหยียบย่ำเขา เขาก็เหยียบย่ำเรา”

มีสุภาษิตจีนบทหนึ่งสอนว่า…

อยากมีความสุข ๑ ชั่วโมง ให้นอนหลับพักผ่อน”

เมื่อเรารู้สึกเหนื่อยล้า ทนไม่ไหวจริง ๆ ก็อย่าไปฝืน นอนเป็นนอน พักเป็นพัก เดี๋ยวค่อยเริ่มต้นกันใหม่

“อยากมีความสุข ๑ วัน ให้ออกไปตกปลา”

เป็นการพักผ่อน เช่น พาครอบครัวไปเที่ยว ไปเยี่ยมผู้ใหญ่ ไปไหว้พระทำบุญ แบ่งปันบริจาคทาน

วิธีสร้างความสุขและสร้างสมดุลชีวิตใน ๑ วัน มีสูตรการบริหารเวลาให้คุ้มค่าง่าย ๆ คือ “๘ + ๘ + ๘” นอนพักผ่อน ๘ ชั่วโมง ทำงาน ๘ ชั่วโมง มีเวลาให้กับครอบครัว ๘ ชั่วโมง ถ้าใช้สูตรนี้ ความสุขย่อมเกิดขึ้น ความสมดุลชีวิตก็ทำหน้าที่

“อยากมีความสุข ๑ เดือน ให้แต่งงาน”

เราจะมีความสุขในช่วงเริ่มต้น หลังจาก ๑ เดือน ไปแล้ว ความจริงในชีวิตจะปรากฏ สุข ทุกข์ เริ่มทำหน้าที่ คล้าย ๆ กับช่วงรักหมดโปรโมชั่น แต่ก็พึงประคับประคองใจ บริหารความสุขให้ต่อเนื่อง

“อยากมีความสุข ๑ ปี ให้รับมรดก”

หลังจาก ๑ ปีไปแล้ว พี่ฟ้องน้อง น้องฟ้องพี่ ญาติพี่น้องทะเลาะเบาะแว้ง เพราะพ่อแม่ไม่อยู่ เป็นความโชคดีของเรา ที่เราเกิดมา พ่อแม่มีทรัพย์สินน้อย จะได้ไม่ตัดพี่ตัดน้อง ด้วยเพียงกระดาษใบบาง ๆ ที่เรียกว่า ธนบัตร ที่มีความคมมาก อาจถึงขั้นตัดพี่ตัดน้องกันได้ เราโชคดีที่ไม่ต้องไปทะเลาะเบาะแว้งเรื่องมรดกกับพี่น้องท้องเดียวกัน

อยากมีความสุขตลอดไป ให้ช่วยเหลือผู้อื่น

การเกื้อกูลแบ่งปัน เขาบ้าง เราบ้าง เรามี เราให้ เขามี เราขอ การเกื้อกูลแบ่งปันกันนี้ การให้ทำให้ชีวิตมีคุณค่า ดังเช่น ช่วงสถานการณ์โควิด-๑๙ คนไทยมีน้ำใจช่วยเหลือ แบ่งปันกันทั่วไทย วัดก็ตั้งโรงทาน ข้าราชการก็ขวนขวาย ชาวบ้านก็ร่วมมือแข็งขัน คนมีก็แบ่งปัน คนรับก็กินอิ่ม นอนอุ่น ตรงกับคำสอนของพระพุทธศาสนาว่า “ททมาโน ปิโย โหติ ผู้ให้ย่อมเป็นที่รัก”

สำหรับประวัติพระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์

บรรพชาเป็นสามเณร ตั้งแต่อายุ ๑๓ ปี ณ วัดไชยชุมพลชนะสงคราม (วัดใต้) จังหวัดกาญจนบุรี และอุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ณ วัดยานนาวา ได้รับฉายาว่า “วีรญาโณ” หมายถึงผู้มีความรู้อันแกล้วกล้า ศึกษาพระธรรมวินัยตามวัยอันสมควรตั้งแต่เป็นสามเณร สำเร็จการศึกษานักธรรมชั้นเอก เปรียญธรรม ๓ ประโยค สำนักเรียนวัดยานนาวา สำเร็จการศึกษาประกาศนียบัตรวิชาชีพครู (ป.วค.), สำเร็จการศึกษาปริญญาตรี พุทธศาสตรบัณฑิต สาขาวิชารัฐศาสตร์ (เกียรตินิยมอันดับสอง) มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และสำเร็จการศึกษาปริญญาโท สังคมสงเคราะห์ศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

ทำหน้าที่เป็นพระธรรมวิทยากร เผยแผ่ธรรม เป็นประธานเครือข่ายธรรมะอารมณ์ดี มีเพื่อนพ้องน้องพี่ช่วยกันปฏิบัติหน้าที่พระธรรมวิทยากร บรรยายในหน่วยงาน องค์กร สถาบันการศึกษาต่าง ๆ ปีละประมาณ ๓๐๐ งาน พร้อมทั้งสนองงานวัด คณะสงฆ์ และเกื้อกูลสังคม การนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๕๕๓ ได้รับพระราชทานรางวัลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา (เสมาธรรมจักรพระราชทาน) สาขาการเผยแผ่พระพุทธศาสนาภายในประเทศ

ปัจจุบัน ได้รับความเมตตาในเจ้าประคุณ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (เขมงฺกรเถร) กรรมการมหาเถรสมาคม เจ้าอาวาสวัดยานนาวา ให้ดำรงตำแหน่งฐานานุกรมที่ “พระครูปลัดสัมพิพัฒนธีราจารย์” ปฏิบัติหน้าที่พระธรรมวิทยากร ทำหน้าที่เผยแผ่ธรรม พร้อมกันนี้ เป็นพระธรรมทูตพิเศษสายต่างประเทศ ปฏิบัติหน้าที่งานเผยแผ่พระพุทธศาสนา และบูรณาการงานสาธารณสงเคราะห์ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ

ตั้งใจอุทิศตนเพื่อเพียรพยายามฝึกฝนการดำเนินชีวิตให้สามารถพึ่งตนเองได้ ทั้งภายในและภายนอก เพื่อเป็นที่พึ่งให้คนอื่นได้ตามแนวทางพระพุทธศาสนา และส่งต่อโอกาสแก่พระหนุ่มเณรน้อยและเยาวชนผู้กำลังเดินทางของชีวิต

 

 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *