28/03/2024

ลึกแต่ไม่ลับ “กัลฟ์” ขยับยุทธศาสตร์บันได 3 ขั้น ดัน AIS ครองตลาดสื่อสารเบ็ดเสร็จ

 

บทวิเคราะห์

แหล่งข่าวจากนักวิเคราะห์เปิดเผยว่า หมากกลทางธุรกิจ เอไอเอส ในยุค “กัลฟ์” คุมยุทธศาสตร์แบบเฉียบคม แบบรวบหัวรวบหาง กับ การซื้อกิจการ 3BB เพื่อต่อรอง คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. กดดันดีลควบรวม ทรู-ดีแทค หวังผลให้ กสทช. คิดหนัก เพื่อให้เห็นการมีจำนวนผู้แข่งขันลดลง การแข่งขันจะลดลง ซึ่งสวนทางการการเคลื่อนไหวในตลาดที่เพิ่มความร้อนแรงในการแข่งขันทันที เมื่อตลาดมีผู้เล่นที่มีขนาดใกล้เคียงกันมากขึ้น คำถามที่สำคัญคือ ทำไม เอไอเอส จึงประกาศการซื้อกิจการ 3BB  ในช่วงเวลานี้ หากจะทำความเข้าใจต้องศึกษาประวัติศาสตร์ของ JAS บริษัทแม่ และผู้ให้บริการ 3BB ที่ขึ้นชื่อในประวัติศาสตร์โทรคมนาคมไทย เรื่องมรดกบาปทิ้งการประมูลคลื่น 900 MHz ที่บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด เคาะประมูลในล็อตที่ 1 ได้ในราคาสูงถึง 75,654 ล้านบาท จนเกิดสมมุติฐาน“ทฤษฎีการสมคบคิด” เพื่อเอื้อประโยชน์ทางธุรกิจกับ “ใครบางคน”หรือไม่ และรวมทั้งตั้งข้อสงสัยไปถึงการทำกำไรจาก “ตลาดหุ้น” ที่ดังอึงมี่ไปทั่วทั้งแผ่นดิน ได้มากกว่าเสีย กับกรณียอมให้ กสทช. ยึดเงินค้ำประกัน 644 ล้านบาท หลังไม่สามารถหาเงินมาชำระค่าใบอนุญาตงวดแรก ตีความได้หรือไม่ว่า การเคาะราคาที่ผู้คนมองว่า “บ้าระห่ำ” นั้น มีจิตเจตนาเพื่อลาก “บริษัทผู้เข้าร่วมประมูลบางราย” ให้ต้องสูญเสียค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งนี้เป็นจำนวนมหาศาลหรือไม่ ดังนั้น การประกาศซื้อกิจการครั้งนี้ ต้องเรียนรู้ประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกัน ทำให้เห็นว่า โทรคมนาคม มีความซับซ้อน ซึ่งการซื้อกิจการของ 3BB ในครั้งนี้ ก็มีคำถามไม่ต่างกัน ว่า เป็นการเดินเกมส์หมากกลทางธุรกิจ ผ่านวิศวกรรมการเงินหรือไม่ เพราะเพียงแค่วันแรก เอไอเอส ก็กำไรส่วนต่างจากราคาหุ้นของ JAS แล้ว ซึ่งถือว่าเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว โดยสุดท้ายก็ยังไม่รู้ว่า เอไอเอส จะต้องการซื้อ 3BB จริงหรือไม่ หรือเป็นเพียงแค่เวทย์มนต์ทางการเงินทางธุรกิจเท่านั้น ต้องติดตามกันใกล้ชิด

ยุทธศาสตร์ “บันได 3 ขั้น” สู่การเป็นผู้นำตลาดสื่อสารของเอไอเอสนั้น เริ่มจากบันไดขั้นที่ 1 คือ การเข้ามาของกัลฟ์ที่ข้ามห้วยมาจากธุรกิจพลังงาน ขยายฐานมาสู่ ธุรกิจเทเลคอม เป็นหนึ่งในหลายธุรกิจที่เป็นพื้นฐานสำคัญต่อการเปลี่ยนผ่านสู่ธุรกิจยุคใหม่ที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมดิจิทัล เพราะหากได้โครงสร้างพื้นฐานทั้งพลังงาน และ สื่อสารแล้ว จะถือว่ามีความครบครัน จึงไม่น่าแปลกใจที่เห็นความเคลื่อนไหวของธุรกิจขนาดใหญ่ อย่างเจ้าแห่งวงการพลังงานอย่าง “กัลฟ์” (GULF) เข้าเทคโอเวอร์หุ้นใหญ่ ของ อินทัช (INTUCH) ตั้งแต่ช่วงกลางปี 2564 โดยบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ได้ทำการเสนอซื้อหุ้น บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ หรือ INTUCH ทำให้ปัจจุบัน กลุ่มกัลฟ์ เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ใน INTUCH ในสัดส่วนรวมกัน 42.25% ขณะที่ INTUCH เป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 1 ใน บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ ADVANC ทำให้ยุทธศาสตร์ของเอไอเอส มีความคมคายมากขึ้น ส่งผลให้เอไอเอสเปลี่ยนท่าทีจากที่ไม่คัดค้านการควบรวมทรูดีแทค เพราะมองว่า เอไอเอส ก็ยังได้เปรียบ มาสู่ท่าทีการคัดค้านอย่างชัดเจน เป็นธงของผู้ถือหุ้นใหม่ ที่ปรับให้เอไอเอส มีความเชิงรุกมากขึ้น ในการบอนไซคู่แข่งในอุตสาหกรรม

 

 

จังหวะการก้าวเข้าสู่ธุรกิจเทเลคอมของ กลุ่มกัลฟ์ จึงเป็นบันไดขั้นแรก และเป็นก้าวสำคัญที่เสริมความแข็งแกร่งให้ AIS อย่างมีนัยสำคัญ เรียกได้ว่า ติดปีกให้กับเจ้าตลาดผู้ให้บริการมือถือในไทยได้ต่อยอดธุรกิจอย่างก้าวกระโดดด้วยความพร้อมของกัลฟ์ทั้งในด้านเงินทุนและเครือข่ายธุรกิจที่กว้างขวาง อีกทั้งยังมี สิงเทล (Singtel) ยักษ์ใหญ่ในวงการโทรคมนาคมของสิงคโปร์ ที่ถือหุ้นใน AIS มายาวนาน จากข้อมูลโครงสร้างผู้ถือหุ้นของ AIS มีผู้ถือหุ้นใหญ่ คือ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) จำนวน 40.44% และ Singtel Strategic Investments Pte. Ltd. จำนวน 23.31%

หลังจากที่ กลุ่มกัลฟ์ เข้ามาถือหุ้นใหญ่ใน อินทัช เพียงไม่กี่เดือน ก็เห็นผลเชิงธุรกิจทันที เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2565 GULF ได้ลงนามร่วมพัฒนาธุรกิจกับ Singtel และ AIS รุกพัฒนาธุรกิจ Data Center ในประเทศไทย ซึ่งเป็นการผนึกความแข็งแกร่งของทั้ง 3 บริษัท โดย GULF มีประสบการณ์ในธุรกิจผลิตไฟฟ้าและธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงมีโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนทั้งในและต่างประเทศ และเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวาง ขณะที่ AIS มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาและดำเนินธุรกิจ Data Center หลายแห่งในประเทศไทย รวมถึงมีประสบการณ์ในการให้บริการแก่ลูกค้าองค์กรมากมาย และ Singtel มีประสบการณ์และความชำนาญในด้านเทคโนโลยีสำหรับ Data Center และมีฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งและหลากหลายทั่วโลก โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ระดับโลก

บันไดขั้นที่ 2 ของ AIS เดินเกมธุรกิจ 5G อย่างแยบคาย โดยเมื่อเดือนมิถุนายน 2565 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า บอร์ดบริษัทโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ NT ได้ตัดสินใจเลือกให้ AIS เป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ โดย NT จะแบ่งคลื่น 700 MHz ให้ AIS ครึ่งหนึ่ง หรือ เป็นจำนวน 5 MHz (ตามที่บริษัทเป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 700 MHz จำนวน 2 ใบอนุญาต ในย่านความถี่ 738-748 MHz คู่กับ 793-803 MHz ด้วยราคา 34,306 ล้านบาท จาก กสทช) ดีลนี้ AISยิงกระสุนนัดเดียว ได้นกสองตัว คือ สกัดผู้เล่นอย่าง NT ให้ออกไปจากตลาดโดยปริยาย ด้วยปริมาณคลื่น 5G ที่ NT มีเหลือน้อยจนไม่สามารถแข่งขันได้ ลดจำนวนคู่แข่งในตลาดโทรคมนาคมไทยให้เหลือน้อยลง  และ AIS ยังนำคลื่นของ NT มาต่อยอดธุรกิจ 5G ส่งผลให้ AIS เป็นเจ้าเดียวที่ถือครองคลื่นความถี่มากที่สุดในประเทศ ทิ้งห่างจากคู่แข่งอย่างทรูและดีแทคที่แม้จะควบรวมธุรกิจได้สำเร็จก็ตาม  อ่านเกมธุรกิจนี้ของ AIS ก็ยิ่งเห็นได้ชัดเจนว่า ใคร คือ ผู้ยึดครองตลาดโทรคมนาคมไทยตัวจริง

บันไดขั้นที่ 3 ของ AIS  กับ ความเคลื่อนไหวล่าสุด กับ เกมธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต โดยAIS ได้แจ้งรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯเกี่ยวกับ ที่ประชุมบอร์ด เอไอเอส มีมติอนุมัติให้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (“AWN”) เข้าซื้อหุ้น ในบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (“TTTBB”) จำนวน 7,529,242,385 หุ้นคิดเป็น สัดส่วน  99.87%  จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด บริษัทย่อยของ บริษัท จัสมิน  อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) (“JAS”) โดย AWN จะทำการขออนุญาตในการเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว จาก กสทช. ก่อน และคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ภายในไตรมาส 1 ของปี 2566 ซึ่งหากดีลเทคโอเวอร์ครั้งนี้สำเร็จ ก็จะทำให้ AIS ก้าวขึ้นเป็นผู้นำ ยึดครองตลาดบรอดแบนด์อย่างสมบูรณ์ในทันที ด้วยฐานลูกค้าทั่วประเทศที่ใหญ่และมากที่สุดในอุตสาหกรรม ที่ประมาณ 5.55 ล้านราย (จากรายงานผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2565 JAS มีจำนวนผู้ใช้บริการบรอดแบนด์รวม 3.68 ล้านราย และ AIS มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์รวม 1.865 ล้านราย) มากกว่า ทรูออนไลน์ ที่มีจำนวนลูกค้าบรอดแบนด์ 4.7 ล้านราย ณ ไตรมาส 1 ปี 2565

หากวิเคราะห์ให้ลึกจะเห็นว่า บันได 3 ขั้นของ AIS เกิดขึ้นในช่วงเวลาเพียงราว ๆ 1 ปีเท่านั้น หลังจากที่ GULF ได้เข้ามาสู่วงการโทรคมนาคม เสมือนติดปีกให้ AIS เดินเกมยึดตลาดโทรคมนาคมไทยได้อย่างแข็งแรงและรวดเร็วตามแนวยุทธศาสตร์การขยายธุรกิจของ GULF ที่มีฐานกำลังแข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนและเครือข่ายทางธุรกิจที่กว้างขวางในหลายอุตสาหกรรม แต่ที่น่าสนใจ คือ ความเคลื่อนไหวทางธุรกิจทั้งหมดนี้ อยู่ในช่วงเวลาที่สอดคล้องเหมาะเจาะกับยุคเปลี่ยนผ่านที่ธุรกิจทั่วโลก รวมถึงภาคธุรกิจไทยจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลง ปรับตัว และขับเคลื่อนให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก เพื่อความอยู่รอดและแข็งแกร่งได้พอที่จะลงสนามแข่งขันกับบรรดาธุรกิจข้ามชาติที่แผ่ขยายสินค้าและบริการไปทั่วโลกได้แบบไร้พรมแดน

แม้ว่าการเทคโอเวอร์ 3BB ของ AIS จะยังต้องรอการพิจารณาจาก กสทช. ซึ่งน่าจะเป็นอีกประเด็นที่ท้าทายการกำกับดูแลของภาครัฐ ว่าจะสามารถควบคุมและดูแลอย่างสมดุลทั้งในด้านประโยชน์ของผู้บริโภคและภาคธุรกิจที่จะอยู่รอดและแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลกได้หรือไม่  ในขณะเดียวกัน กลุ่มนักวิจัย TDRI นักวิชาการ รวมถึง สภาองค์กรผู้บริโภค และมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ก็น่าจะต้องเข้ามาตรวจสอบอย่างเข้มข้นและจับตาดีลนี้ด้วยเช่นกัน ไม่ต่างกับที่ได้วิเคราะห์และวิพากษ์วิจารณ์ดีลการควบรวมระหว่างทรูและดีแทคเอาไว้ก่อนหน้านี้

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *