20/04/2024

ประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกัน กับความสัมพันธ์ อาเซียน-จีน

 

 

ในการสัมมนาเรื่อง “ผู้นำรุ่นใหม่ไทย กับประชาคมแห่งโชคชะตาร่วมกัน อาเซียน-จีน”  ที่จัดโดย   สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐประชาชนจีนประจำประเทศไทย  ร่วมกับศูนย์สื่อสารเอเชียแปซิฟิก สำนักสารนิเทศต่างประเทศแห่งประเทศจีน  เมื่อวันพุธที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา ณ ห้องประชุม สถาบันขงจื่อแห่งจุฬาฯ  อาคารบรมราชกุมารี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  มีนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ความร่วมมืออาเซียน-จีน กับความมั่นคงภูมิภาค” และนายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย  กล่าวปาฐกถาเรื่อง “มือประสานมือสร้างโชคชะตา ใจประสานใจสร้างอนาคตของชาติ”

 

 

นายอภิสิทธิ์กล่าวในตอนหนึ่งว่า  กรณีของประเทศจีนนั้นเป็นที่ชัดเจนว่าในรอบหลาย 10 ปีที่ผ่านมา เป็นประเทศที่มีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจมากที่สุดประเทศหนึ่งในโลก สามารถแก้ไขปัญหาความยากจนภายในประเทศและได้มีความพยายามที่จะกระจายความเจริญต่าง ๆ ให้เกิดความเสมอภาคมากขึ้น ความสำเร็จทางเศรษฐกิจของจีนจึงนำมาสู่บทบาทในเวทีระหว่างประเทศทั้งทางด้านเศรษฐกิจ การเมืองและความมั่นคงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้  ซึ่งย่อมมาควบคู่กับความรับผิดชอบที่สูงขึ้นและการถูกตรวจสอบจากประชาคมโลกพร้อม ๆ กันไป

 

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ  อดีตนายกรัฐมนตรี

 

สำหรับอาเซียนนั้นก็ได้รับการยอมรับว่าเป็นภูมิภาคซึ่งมีพลังสำคัญทางด้านเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน และยังสามารถเป็นศูนย์กลางในการสร้างเวทีระหว่างประเทศ เช่น การประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออก เวทีเกี่ยวกับความมั่นคงในภูมิภาค หรือ ARF

แต่ทั้งอาเซียนและจีนก็ยังถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับปัญหาประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน และหลายครั้งเงื่อนไขเหล่านี้ก็ถูกนำมาเป็นอุปสรรคที่เกี่ยวข้องกับความร่วมมือทางด้านการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจด้วย  ซึ่งปัญหาเหล่านี้ก็เป็นเรื่องที่ทุกประเทศที่เกี่ยวข้องในภูมิภาค จะต้องใคร่ครวญและแสวงหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาและสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประชาคมโลกต่อไป

ด้านเอกอัครราชทูตจีน กล่าวว่า  จีนถือว่าอาเซียนมีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการทูตกับประเทศเพื่อนบ้านมาโดยตลอด จีนเป็นประเทศแรกในกลุ่มคู่เจรจาของอาเซียนที่เข้าร่วม “สนธิสัญญามิตรภาพและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”  เป็นประเทศแรกที่จัดตั้งหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์กับอาเซียน  เป็นประเทศแรกที่สนับสนุนอย่างชัดเจนให้อาเซียนเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในภูมิภาค  เราส่งเสริมความเข้าใจและความไว้เนื้อเชื่อใจกันผ่านการสื่อสารที่เป็นมิตร แสวงหาจุดร่วมและสงวนความแตกต่างในการแก้ไขปัญหา ร่วมกันพิทักษ์สันติภาพและความสงบสุขในเอเชียตะวันออก และร่วมกันรักษาทิศทางที่ถูกต้องของความร่วมมือในเอเชียตะวันออก

 

นายหาน จื้อเฉียง เอกอัครราชทูต สาธารณรัฐประชาชนจีน ประจำประเทศไทย

 

หลังการปาฐกถาเป็นการเสวนาหัวข้อ “ความร่วมมืออาเซียน-จีนในสายตาผู้นำรุ่นใหม่ไทย” โดยวิทยากรประกอบด้วย นายอุดม สุขสุดประเสริฐ  อดีตนายกสมาคมธุรกิจไทยรุ่นใหม่  นางสาวธิดารัตน์ ยิ่งเจริญ  ผู้อำนวยการศูนย์นโยบาย  พรรคไทยสร้างไทย  ดร.วิรุฬห์ พิชัยวงศ์ภักดี  ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางไทย-จีน  นายจตุรงค์ กอบแก้ว  บรรณาธิการข่าว EEC NEWS  นางสาวอรทิพย์ ทัศนีย์ทอง  ประธานเจ้าหน้าที่บริหารร่วม บริษัท ไทยเจียระไน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)  ดำเนินรายการโดย นายชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ  อดีตนายกสมาคมผู้สื่อข่าวไทย-จีน และบรรณาธิการ The Leader Asia

 

 

สรุปเนื้อหาจากเวทีเสวนา  วิทยากรทุกท่านเห็นตรงกันว่าอาเซียนกับจีนมีความสัมพันธ์ที่ดี  โดยจีนเข้าไปมีความสัมพันธ์โดยตรงในแต่ละประเทศแตกต่างกันไป  ทั้งด้านการศึกษา การเมือง การค้าการลงทุน อุตสาหกรรมบันเทิง  แม้แต่ในด้านข่าวสาร  หากอาเซียนที่มีประชากร 600 ล้านคน จับมือกับจีนที่มีประชากร 1,400 ล้านคน รวมเป็น 2,000 ล้านคนจะเป็นพลังที่แข็งแกร่งมาก

 

 

ในยุคระเบียบโลกใหม่ ความสัมพันธ์ระหว่างอาเซียน-จีน ยังคงมีหลากหลายมิติ ทั้งความเป็นหุ้นส่วน ความเป็นเพื่อน หรือความเป็นพี่น้อง  อย่างไรก็ตามสมาชิกอาเซียนยังต้องเรียนรู้จีนอีกหลายเรื่องให้ลึกซึ้ง  อาทิ โครงการหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง(BRI) ที่จีนต้องการต่อเชื่อมนานาประเทศ  ความสำเร็จในการขจัดความยากจนของจีน  การเสียสละของผู้นำจีน  และการให้ประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาประเทศ

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *