20/04/2024

“ศรีลังกา”ล่มสลาย ใครคือรายต่อไป?

 

 

รายงานพิเศษ

 

        “ท่องเที่ยวศรีลังกา จิบชาซีลอน” คือประโยคที่เป็นภาพจำของประเทศศรีลังกา  โดยรู้แค่ว่าเป็นเกาะอยู่ใกล้อินเดียที่เพิ่งพ้นจากการเป็นเมืองขึ้นของอังกฤษแค่ไม่กี่สิบปี  ชาซีลอนจึงเป็นผลผลิตและวัฒนธรรมที่ถูกปลูกฝังมาจากชาติผู้ดีนักล่าอาณานิคมในอดีตนั่นเอง

ศรีลังกาเป็นประเทศที่มีรายได้จากการส่งออก 23% ของจีดีพี ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตร เช่น ชา มะพร้าว ยางพารา และการท่องเที่ยวประมาณ 12% ของจีดีพี เป็นหลัก  แต่รายได้หลักทั้งสองขาต้องสะดุดลงในช่วงโควิดแพร่ระบาดรุนแรงในช่วงปี 2563-2564  ศรีลังกาจึงได้รับผลกระทบเหมือนชาติอื่นๆทั่วโลกจนถึงปี 2565 ที่โควิดซาลง  แต่เหมือนเคราะห์ซ้ำกรรมซัดให้เจอผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน โดยเฉพาะด้านพลังงาน ปุ๋ย จำเป็นอาหารบางประเภทที่ศรีลังกาต้องนำเข้า 100%

 

 

หนักถึงขนาดที่วันนี้ผู้นำประเทศบอกว่า “ล่มสลาย” กลายเป็นรัฐล้มเหลว (Failed State)แล้ว

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายนที่ผ่านมา นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกาที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อเดือนพฤษภาคม  ได้แถลงต่อรัฐสภายอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจของศรีลังกาขณะนี้ไม่ใช่แค่การขาดแคลนน้ำมันเชื้อเพลิง ไฟฟ้า และอาหาร  หรือหนี้สินเยอะเท่านั้น  แต่ได้พังทลายลงโดยสมบูรณ์แล้วและรัฐบาลจำเป็นต้องขอความช่วยเหลือจากประชาคมโลก

นายกรัฐมนตรีรานิลเข้ารับตำแหน่งหลังการลาออกของ นายมหินทรา ราชปักษา อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ถูกประชาชนประท้วงขับไล่ถึงขั้นบุกเผาบ้าน  ด้วยความโกรธแค้นในความผิดพลาดของการบริหารประเทศจนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ  ชาวศรีลังกา 22 ล้านคนเผชิญปัญหาเงินเฟ้อรุนแรง   ขาดแคลนน้ำมัน  ไม่มีไฟฟ้าใช้วันละนับ 10 ชั่วโมง  ขาดแคลนอาหาร  ยารักษาโรค  ฯลฯ   โดยมีการรวมตัวประท้วงตั้งแต่เดือนมีนาคมส่งผลให้คณะรัฐมนตรีต้องลาออก ประธานาธิบดี โกตาบายา ราชปักษา ต้องปรับครม.เอาคนในตระกูลราชปักษาออกจากตำแหน่งเพื่อลดแรงกดดัน

 

 

ศรีลังกาล้มละลายเพราะรายจ่ายมากกว่ารายรับ  มีหนี้ต่างประเทศทั้งหมดราว 51,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมียอดต้องชำระในปี2565 ประมาณ 4,000 ล้านดอลลาร์(บางสื่อว่า 7,000 ล้านดอลลาร์) โดยเดือนกรกฎาคมนี้มีพันธบัตรรัฐบาลครบกำหนดไถ่ถอน 1,000 ล้านดอลลาร์  แต่รัฐบาลศรีลังกาได้ประกาศ “พักชำระหนี้” ไปแล้ว

เมื่อเดือนมีนาคมรัฐบาลศรีลังกาได้เจรจาขอกู้ยืมจากจีน 2,500 ล้านดอลลาร์  ฝ่ายจีนบอกว่าจะให้กู้ 1,500 ล้านดอลลาร์  โดยเมื่อวันที่ 18 มีนาคม ไชน่า ดีเวลลอปเม้นท์ แบงก์ (CDB) ของจีนให้กู้ไปแล้ว 500 ล้านดอลลาร์

ในช่วงเวลาเดียวกันนั้นรัฐบาลศรีลังกาได้ขอรับความช่วยเหลือทางการเงิน จำนวน 4,000 ล้านดอลลาร์จากกองทุนการเงินระหว่างประเทศ  (IMF)  ต่อมาคงลดวงเงินเหลือประมาณ 3,000 ล้านดอลลาร์โดยคาดว่าการเจรจาจะบรรลุข้อตกลงภายในสิ้นเดือนมิถุนายนนี้

 

 

ที่ผ่านมาศรีลังกาค่อนข้างสนิทชิดเชื้อกับจีนมากกว่าฝั่งตะวันตกเช่นอังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา  เพราะจีนเข้ามาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานตามโครงการ Belt and Road Initiative (BRI)  จนจีนถูกโจมตีว่ามาสร้าง “กับดักหนี้”กับศรีลังกา  ดังนั้นเมื่อศรีลังกาเจอวิกฤติหมดปัญญาใช้หนี้เลยเข้าทางสื่อตะวันตกที่เขียนบทสรุปว่าศรีลังกา “พังเพราะจีน

อย่างไรก็ตามในข้อเท็จจริงนั้นเงินกู้จากจีนมีสัดส่วนเพียง 10% พอๆกับที่ศรีลังกากู้จากญี่ปุ่น  โดยวงเงินกู้ส่วนใหญ่คือธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) และสถาบันการเงินอื่นๆ

การกู้เงินมากก็อาจไม่ใช่สาเหตุแห่งความล้มเหลว  หากกู้แล้วเอามาใช้ลงทุนสร้างความเจริญ สร้างงาน สร้างรายได้แก่ประชาชนในประเทศ  แค่ความจริงคือรัฐบาลบริหารประเทศไม่เป็น  เป็นรัฐบาลที่อยู่ในอำนาจของตระกูลการเมือง 2 ตระกูลคือ “ราชปักษา” และ “สิริเสนา”   โดยเฉพาะในช่วงที่ราชปักษาเข้ามาบริหารแล้วเจอโควิด-19 ได้บริหารอย่างผิดพลาดอย่างมหันต์

รัฐบาลราชปักษาใช้นโยบายประชานิยมเอาใจประชาชนแบบไม่รู้เรื่องเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน  ประกาศลดภาษีและยกเลิกภาษีบางประเภท  ส่งผลร้ายรายได้ประเทศหดหาย  ขณะที่รายจ่ายเพิ่ม สินค้านำเข้าแพง  จนคลังถังแตก  เกิดวิกฤติทุนสำรองระหว่างประเทศเหลือน้อย  รัฐบาลผิดนัดชำระหนี้  ไม่มีเงินเพียงพอนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง  ต้องสั่งดับไฟฟ้า  ประชาชนต้องเข้าคิวเติมน้ำมัน

 

 

ความเดือดร้อนที่หนักหนาสาหัสก่อให้เกิดความโกรธแค้นและหาทางระบายด้วยการประท้วงขับไล่จนถึงเผาบ้านรัฐมนตรี

เห็นเคสศรีลังกาแล้วหลายชาติน่าจะรู้สึกหนาวๆร้อนๆ  โดยเฉพาะประเทศที่มีหนี้สินเยอะ  มีรายได้น้อย  หรือรายได้ทางเดียวจากการท่องเที่ยวที่วูบวาบอ่อนไหวตามสถานการณ์  ชาติยากจนในแอฟริกาและเอเชียที่อยู่ภายใต้โครงการความร่วมมือBRIของจีนจึงกำลังเป็นที่จับตา

สปป.ลาว” เพื่อนบ้านใกล้ชิดไทยที่กำลังเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจคือหนึ่งในนั้นว่าจะเป็นรายต่อไปหรือไม่

ไทยเราล่ะ!  รัฐบาลอาจจะออกตัวได้ว่าไม่ได้เป็นหนี้จีน  เห็นไหมล่ะโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ถ้าหลงเซ็นสัญญากู้เงินจีนแต่แรก  วันนี้อาจเสร็จและเปิดใช้ก่อนลาว  แต่ก็เท่ากับนั่งทับหนี้ก้อนใหญ่ของจีน  อาจจะเจอวิกฤติหนักเหมือนศรีลังกาก็ได้

แต่อย่าลืมว่าไทยก็ยังมีหนี้ที่กู้ในประเทศไว้บานเบอะจนต้องขยายเพดานก่อหนี้  อาการ “ถังแตก”เพราะหาเงินไม่เป็น  แต่ทำตัวเป็นซานตาครอสแจกเงินอย่างเดียว  ผู้นำไร้วิสัยทัศน์พาประเทศเดินหน้าไม่ได้เพราะ “ติดกับดักการสืบทอดอำนาจ” หวังจะอยู่ยาว 20 ปี

ขอให้ศรีลังกาเป็นบทเรียนที่คนไทยได้ตระหนัก  เพื่อว่าไทยจะไม่ใช่รายต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *