25/04/2024

โอกาสมะพร้าวไทยในตลาดจีน

 

 

สำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง

• การนำเข้ามะพร้าวของจีน
จีนเป็นประเทศที่อุดมไปด้วยผลไม้นานาชนิด พร้อมทั้งยังนำเข้าผลไม้ต่างๆ จากทั่วโลก โดย “มะพร้าว” เป็นหนึ่งในผลไม้เมืองร้อนที่ได้รับความนิยมจากผู้บริโภคจีนอย่างต่อเนื่อง ทั้งบริโภคสด ปรุงแต่ง และแปรรูปให้เข้ากับวัฒนธรรมการรับประทานและเมนูอาหารท้องถิ่น
เนื่องด้วยการผลิตภายในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการของผู้บริโภค อัตราการนำเข้ามะพร้าวของจีนจึงเพิ่มสูงขึ้นมาก ในช่วงระยะเวลา ๕ ปี ตั้งแต่ปี ๒๕๖๐ – ๒๕๖๔ ประเทศหลักในการส่งออกมะพร้าวสดเข้าประเทศจีน คือ อินโดนีเซีย ไทย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย ตามลำดับ ซึ่งจากปริมาณการนำเข้ามะพร้าวสดของจีนในปี ๒๕๖๔ คือ ๘๗๑,๗๕๓ ตัน มูลค่า ๔๕๑,๗๘๗,๗๙๓ ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้น ๑.๒๘ เท่า และมูลค่าเพิ่มขึ้น ๑.๗๒ เท่า เมื่อเปรียบเทียบกับข้อมูลปี ๒๕๖๐ (๕ ปีที่ผ่านมา) โดยข้อมูลจากสำนักงานศุลกากรจีนพบว่าตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๕ (เดือนมกราคม – เดือนมีนาคม) จีนนำเข้ามะพร้าวสด (พิกัดศุลกากร ๐๘๐๑๑๒๐๐) ทั้งหมด ๒๒๗,๕๔๔ ตัน มูลค่า ๑๓๑,๗๓๓,๐๓๓ ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ ๓๕ และมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ ๕๕ เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสแรกของปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ข้อมูลจากเว็บไซต์ Produce Report รายงานว่า จีนนำเข้ามะพร้าวจากไทยและอินโดนีเซีย รวมถือครองสัดส่วนกว่าร้อยละ ๙๐ ของการนำเข้ามะพร้าวสดทั้งหมด โดยส่วนที่เหลือคือนำเข้าจากเวียดนาม ฟิลิปปินส์ และ มาเลเซีย

หมายเหตุ ข้อมูลโดยศุลกากรจีน รวบรวมและเรียบเรียงโดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง

 

หมายเหตุ ข้อมูลโดยศุลกากรจีน รวบรวมและเรียบเรียงโดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง

 

ในภาพรวมไทยมีอัตราการส่งออกมะพร้าวสดมายังประเทศจีนที่เติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี ๒๕๖๔
มีปริมาณการนำเข้าเพิ่มจากปี ๒๕๖๓ ถึง ๓๖ เปอร์เซ็นต์ จากข้อมูลสถิติของศุลกากรแห่งชาติจีน จะเห็นได้ว่า ในช่วงไตรมาสแรกของปี ๒๕๖๕ (เดือนมกราคม – มีนาคม) เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ภาพรวมการนำเข้าผลไม้ไทยมีปริมาณเพิ่มขึ้นค่อนข้างเล็กน้อยเพียง ๕ เปอร์เซ็นต์ เนื่องด้วยสถานการณ์การระบาดของโควิดในประเทศไทยและในจีน โดยผลไม้ส่วนใหญ่ ได้แก่ ทุเรียนสด ลำไยสด มังคุดสด และมะม่วงสด มีปริมาณการนำเข้าลดลงเป็นอย่างมากที่ ๑๖ เปอร์เซ็นต์ ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ๓๙ เปอร์เซ็นต์ และ ๘๘ เปอร์เซ็นต์ ตามลำดับ ในขณะที่มะพร้าวกลับมีปริมาณการนำเข้าเพิ่มขึ้นสูงถึง ๘๐ เปอร์เซ็นต์

 

หมายเหตุ ข้อมูลโดยศุลกากรจีน รวบรวมและเรียบเรียงโดยสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศ ประจำกรุงปักกิ่ง

 

• สถานการณ์มะพร้าวในตลาดจีน
ความต้องการซื้อ (demand) ของตลาดมะพร้าวจีน สามารถแบ่งออกได้เป็น ๑. มะพร้าวสดอ่อน เพื่อการบริโภคน้ำมะพร้าว และ ๒. มะพร้าวสดแก่ เพื่อนำมาทำน้ำกะทิ หรือการแปรรูป ราคาขายส่งเฉลี่ยของมะพร้าวทั้งในประเทศและต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น โดยราคาเฉลี่ยมะพร้าวในประเทศเดือนพฤษภาคม ปี ๒๕๖๔ และ ๒๕๖๕ จากตลาดขายส่งผลไม้ซินฟาตี้ในกรุงปักกิ่ง อยู่ที่ ๖.๒๕ หยวน และ ๖.๕๐ หยวน ตามลำดับ และราคาเฉลี่ยมะพร้าวในช่วงเวลาเดียวจากประเทศไทย อยู่ที่ ๗.๕ หยวน และ ๙.๕ หยวน ตามลำดับ ซึ่งเห็นได้ว่าราคาของมะพร้าวไทยสูงกว่าราคามะพร้าวในประเทศ พร้อมมีอัตราการขึ้นราคาสูงขึ้นกว่าด้วยเช่นกัน
ตลาดเครื่องดื่มในประเทศจีนเติบโตอย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็น ชา กาแฟ หรือ น้ำผลไม้ ดังนั้นน้ำมะพร้าวจึงได้รับผลกระทบและมีอุปสงค์เพิ่มมากขึ้นในตลาดจีน ในช่วงครึ่งปีแรกของปี ๒๕๖๔ ตลาดจีนมีเครื่องดื่มที่มีน้ำมะพร้าวเป็นส่วนผสมมากกว่า ๑๓๐ รายการ ทั้งจากแบรนด์ HeyTea, Nayuki, Lele Cha, และ Lucking Coffee ซึ่งรวมถึงร้านอาหารฟาสฟู๊ดอย่าง KFC ในประเทศจีนก็ตามกระแสโดยออกเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของน้ำมะพร้าวด้วยเช่นกัน ผู้บริโภคชาวจีนต่างชื่นชอบและบริโภคน้ำมะพร้าวอย่างแพร่หลาย ตัวอย่างเช่น Lucking Coffee ได้โพสท์ข้อความบนโซเชียลมีเดีย (เวยโป๋) ของแบรนด์ในวันที่ ๖ เมษายน ที่ผ่านมาว่า แบรนด์มียอดขายเครื่องดื่ม Raw Coconut Latte (生椰拿铁) รวมทั้งปีสูงถึง ๑๐๐ ล้านแก้ว จากการชูจุดขายในรสชาติความหอมหวานของน้ำมะพร้าว คุณประโยชน์ และการเป็นเครื่องดื่มไขมันต่ำ ประกอบกับกลยุทธ์การตลาดที่ทางแบรนด์เซ็นสัญญากับนักกีฬาสกีสาวดาวรุ่ง “กู่อ้ายหลิง” ที่คว้าได้ถึง ๒ เหรียญทองในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ปักกิ่ง ๒๐๒๒ ให้เป็นพรีเซ็นเตอร์ของเครื่องดื่มดังกล่าว

 

 

Lucking Coffee โพสท์อีกครั้งบนเวยโป๋ทางการของทางแบรนด์ในวันที่ ๑๗ เมษายนนี้ว่า ตั้งแต่วันที่ ๑๑ เมษายน ที่ทางแบรนด์ได้เปิดตัวเครื่องดื่มเมนูใหม่ชื่อ Coconut Cloud Latte (椰云拿铁) ที่จับมือร่วมกันกับแบรนด์น้ำมะพร้าวเก่าแก่กว่า ๓๔ ปีจากไห่หนาน โดยภายในระยะเวลาเพียงแค่ ๑ สัปดาห์ ทางแบรนด์ก็สามารถทำยอดขายได้สูงถึง ๔.๙๕ ล้านแก้ว มูลค่ารวมกว่า ๘๑ ล้านหยวน ไม่เพียงเท่านั้น สิ่งที่ยืนยันความนิยมของน้ำมะพร้าวในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีน คือยอดขายของ Lucking Coffee ตลอดทั้งปี ๒๕๖๔ ( ๗.๙.๖๕ พันล้านหยวน ) ที่เพิ่มมากขึ้นกว่ายอดขายของปี ๒๕๖๓ ( ๔.๐๓๓ พันล้านหยวน) กว่าหนึ่งเท่าตัว
นอกจากนี้ เครื่องดื่มน้ำมะพร้าวพร้อมดื่มแบบขวดทั้งผลิตภายในประเทศและนำเข้าจากไทยก็มีวางขายบนท้องตลาดเช่นเดียวกัน ไม่เพียงเท่านั้น เมนูอาหารจีนต่างๆ ก็ได้ปรับตัวและเพิ่มส่วนผสมน้ำมะพร้าวเข้าไป เช่น ซุปกระดูกหมูน้ำมะพร้าว น้ำมะพร้าวตุ๋นไก่ดำ หรือ Hotpot ที่ใช้น้ำมะพร้าวเป็นซุปหลัก และได้รับความนิยมเช่นกัน

 

ส่วนรูปแบบการบริโภคมะพร้าวสดของชาวจีนนั้น ร้านขายผลไม้ทั่วไปจะขายมะพร้าวที่มีหลอดพร้อมดื่ม แม้มะพร้าวแบบนี้จะมีราคาสูงกว่า (มะพร้าวอ่อนสดปกติ ราคาลูกละประมาณ ๑๒ หยวน มะพร้าวที่มีหลอดพร้อมดื่ม ราคาลูกละตั้งแต่ ๑๓-๒๖ หยวน) แต่เพื่อความสะดวกสบาย ผู้บริโภคบางส่วนก็พร้อมจ่ายเงินเพิ่มขึ้นเลือกบริโภคมะพร้าวแบบพร้อมดื่ม

 

หากมิเช่นนั้น ผู้บริโภคสามารถหาซื้ออุปกรณ์เปิดมะพร้าวได้ง่ายตามร้านขายสินค้าออนไลน์ทั่วไป ตั้งแต่ระดับครัวเรือนที่ใช้ฆ้อนเปิดมะพร้าว หรือระดับอุตสาหกรรมที่ใช้เครื่องจักรเปิด โดยสามารถเปิดฝามะพร้าวได้มากถึง ๖๐๐ ลูกต่อ ๑ ชั่วโมง

 

จากปริมาณความต้องการมะพร้าวสดของผู้บริโภคชาวจีน ตลาดมะพร้าวจึงเป็นที่ถูกจับตามองจากผู้ผลิตทั่วโลก ซึ่งรวมถึงผู้ผลิตในจีนเอง โดยมณฑล “ไห่หนาน” มีประวัติในการเพาะปลูกมะพร้าวมายาวนานและเป็นพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าวที่ใหญ่ที่สุดในประเทศจีน โดยในปี ๒๕๖๓ ไห่หนานมีพื้นที่เพาะปลูกมะพร้าว ๕.๑๗๙ แสนหมู่ (ประมาณ ๒.๑๕ แสนไร่) ซึ่งถือเป็นร้อยละ ๙๙ ของประเทศ หรือ ๐.๒๙ ของโลก และเมื่อประเทศจีนเปิดโอกาสให้ประเทศอื่นสามารถส่งออกมะพร้าวเข้าได้ ผู้ผลิตในไห่หนานเองจึงเกิดความท้าทายและเร่งพัฒนาการผลิตมะพร้าวอย่างมาก โดยในช่วงสองสามปีที่ผ่านมานี้ ผลิตภัณฑ์มะพร้าวหลักของไห่นานคือ น้ำตาลมะพร้าว น้ำมะพร้าว (น้ำกะทิ) และผงแป้งมะพร้าว นอกจากนี้ ผู้ประกอบการ (Chunguang Group) ในเมืองเหวินชาง มณฑลไห่หนาน ได้ลงทุนเงินกว่า ๒๐๐ ล้านหยวน เพื่อพัฒนาห่วงโซ่การผลิตและแปรรูปมะพร้าว และท้ายสุดผลิตภัณฑ์มะพร้าวแปรรูปนี้ได้จับมือกับซุปเปอร์มาร์เก็ตและแพลตฟอร์มร้านค้าออนไลน์ สร้างรายได้กลับคืนมา ซึ่งรวมถึงแบรนด์เครื่องดื่มต่างๆ โดยเฉพาะกาแฟ Luckin coffee ที่ได้กล่าวไปข้างต้น ไม่เพียงเท่านั้น บริษัทแปรรูปมะพร้าวในไห่หนานได้ร่วมมือกับแบรนด์เครื่องดื่มจีนร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ อาทิ เครื่องดื่มน้ำมะม่วงมะพร้าว เครื่องดื่มข้าวโอ๊ตน้ำมะพร้าว เป็นต้น และปัจจุบันได้ส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศทั้งสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และ เยอรมัน เป็นต้น
เห็นได้ว่าอุตสาหกรรมการผลิตมะพร้าวในไห่หนานได้ยกระดับอุตสาหกรรมใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีในการผลิต อันนำมาซึ่งโอกาสในการเติบโตของอุตสาหกรรมมะพร้าวภายในประเทศ อย่างไรก็ตามความท้าทายที่ตามมาคือ ต้นทุนค่าแรงภายในประเทศ ประกอบกับต้นทุนบรรจุภัณฑ์และค่าขนส่งของพื้นที่อื่นภายในประเทศที่ต่ำกว่าไห่หนาน ไม่เพียงเท่านั้นมาตรฐานอุตสาหกรรมแปรรูปมะพร้าวในแต่ละพื้นที่ไม่เท่ากัน สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อการปรับตัวและพัฒนาของอุตสาหกรรมมะพร้าวของจีนอย่างต่อเนื่อง

 

 

จากการปรับตัวต่อสถานการณ์ตลาดมะพร้าวในปัจจุบันและกลยุทธ์ของผู้ประกอบการมะพร้าวจีนจึงสง่ ผลให้ภายในประเทศจีนมีความต้องการมะพร้าวสดที่เหมาะสำหรับการแปรรูปเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจีนจึงได้นำเข้า  มะพร้าวจากอินโดนีเซียและเวียดนามเพิ่มเติม เพื่อเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่อไป
(มะพร้าวไทยนยิมบริโภคเฉพาะน้ำ) ปัจจุบันนี้จึงมีผู้ประกอบการจีนให้ความสนใจแปรรูปมะพร้าวกันอย่างแพร่หลายเพราะมีคำกล่าว ว่าหากผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าวแล้วนั้น จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้สูงขึ้นถึงลูกละ ๖ หยวน ดังนั้น  จึงไม่ แปลกที่อัตราการนำเข้ามะพร้าวจากอินโดนีเซียเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แต่ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของโรคระบาด COVID-๑๙ จึงส่งผลให้การขนส่งทางเรือใช้เวลานานขึ้น  จากเดิมการขนส่งทางเรือจากอินโดนีเซียถึงไห่หนาน ใช้เวลา ๑๖ วัน แต่ปัจจุบันใช้เวลานานกว่า ๑ เดือน  ซึ่งส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อผลไม้และต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น สำหรับผู้ประกอบการแปรรูปมะพร้าว  จึงเป็นอีกความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการจีนที่ต้องมีแบกรับต้นทุนค่าวัตถุดิบที่เพิ่มสูงขึ้นและมีความไม่แน่นอนในปริมาณมะพร้าวคงคลัง
ส่วนมะพร้าวอ่อนของไทยนั้นยังถือว่ามีความโชคดีและมีโอกาสขยายตัวในตลาดจีน เนื่องจาก ๑) ผู้บริโภคชาวจีนยังคงมีปริมาณความต้องการบริโภคน้ำมะพร้าวสดอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสามารถเห็นได้จากกราฟแสดงปริมาณการนำเข้ามะพร้าวจากไทยข้างต้น ๒) ราคามะพร้าวของไทยต่อลูกยังคงเพิ่มสูงขึ้น  จากที่ได้กล่าวข้างต้นไปว่าราคาส่ง เฉลี่ยมะพร้าวไทยต่อลูกเพิ่มสูงขึ้นถึงลูกละ ๒ บาท และ ๓)  ช่องทางการขนส่งมะพร้าวจากไทยไปจีนสามารถขนส่งได้ ทางรถและทางเรือ  รวมถึงระยะเวลาในการขนส่งจากไทยมาจีนนั้นสั้นกว่าระยะเวลาจากอินโดนีเซียมาจีน
ข้อคิดเห็นของสำนักงานฯ
๑. การออกแบบหรือพัฒนาบรรจุภัณฑ์มะพร้าวในตลาดจีนที่สามารถอำนวยความสะดวกแก่ ผู้บริโภค  เป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญในการเลือกซื้อสินค้าและสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าได้
๒. ตลาดมะพร้าวในจีนมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมะพร้าวของไทยเป็นสินค้าที่ได้รับความนิยมในตลาดจีนเป็นอย่างมาก เนื่องด้วยรสชาติหวานและมีความหอมซึ่งมีความแตกต่างกับมะพร้าวท้องถิ่น ผู้บริโภค  จึงนิยมบริโภคสดหรือนำมาต้มซุป เพื่อให้ได้รสชาติอาหารที่ดียิ่งขึ้น ในช่วง ๒-๓ ปีที่ผ่านมา  มะพร้าวถือได้ว่า เป็นสินค้าดาวเด่นของไทยและมีปริมาณความต้องการนำเข้าจากจีนสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง  แม้ในช่วงสถานการณ์ การระบาดของโควิด -19 สินค้าผลไม้อื่นๆ เช่น ทุเรียน มังคุด
ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การขนส่ง มาตรการการควบคุมป้องกันโควิดของจีน แต่มะพร้าวได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยและมีผู้นำเข้ามีความ ต้องการนำเข้าอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น  จึงเป็นโอกาสที่ดีของมะพร้าวไทยในตลาดจีน ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทยและผู้ประกอบการผลิตจะต้องรักษามาตรฐาน คุณภาพ และสร้างมูลค่าเพิ่มของมะพร้าว เพื่อรักษาตลาดและแสวงหาโอกาสในการขยายตลาดสินค้าดังกล่าวในจีนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *