29/03/2024

“Food Protectionism” หวั่นดันต้นทุนวัตถุดิบอาหารสูงต่อเนื่อง

 

 

โดย…….อัปสร พรสวรรค์

สงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อมาแรมเดือนจุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” เขย่าความมั่นคงทางอาหารของประชากรโลก จากการที่ทั้งสองประเทศหยุดการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สำคัญอย่างข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ข้าวสาลี เรพซีดออยล์ และน้ำมันเชื้อเพลิง เพื่อสำรองอาหารและพลังงานไว้เพื่อความมั่นคงในประเทศ ซึ่งสินค้าธัญพืชเหล่านั้นเป็นปัจจัยการผลิตสำคัญในการเลี้ยงสัตว์และผลิตอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” ในแบบเดียวกัน เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ

ประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารขณะนี้นอกจากรัสเซีย-ยูเครน แล้ว ติดตามมาด้วยอินโดนีเซียประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มสำหรับทำอาหาร คาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลี เป็นการชั่วคราวจนถึงวันที่ 15 มิถุนายน 2565 ขณะที่อาร์เจนตินา จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 2556 และล่าสุดอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ด้วยเหตุผลที่ไม่แตกต่างกับประเทศอื่นๆ คือ เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน เหล่านี้อาจจะเป็นเหตุผลให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์และราคาอาหารปรับเพิ่มขึ้นรอบใหม่ได้

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อข้าวสาลีทั่วโลกได้แห่ไปซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากเมืองท่าแถบทะเลดำลดลงตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ส่งผลให้ราคาข้าวสาลีตลอดจนผลิตภัณฑ์จากข้าวสาลีในอินเดียพุ่งสูงถึง 15-20% หลังสงครามรัสเซียยูเครนปะทุ เช่นเดียวกับราคาข้าวสาลีในตลาดโลกพุ่งสูงสุดในรอบ 14 ปี ซึ่งไม่เพียงแต่จะกระทบต่อปัจจัยต้นทุนราคาอาหาร การห้ามส่งออกข้าวสาลีของอินเดียยังคาดว่าจะกระทบต่อต้นราคาอาหารสัตว์ให้มีแนวโน้มสูงขึ้นด้วยเช่นกัน

 

 

เห็นได้ว่านโยบายปกป้องตัวเองเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหารเฉพาะตัว (Food Protectionism) เริ่มแพร่หลายไปในหลายประเทศแม้ไม่ได้อยู่ในภาวะสงครามก็ตาม เพราะต่างตระหนักถึงผลกระทบทางตรงต่อนโยบายบริหารประเทศช่วงต่อจากนี้ไป คือ ภาวะเงินเฟ้อและการขาดแคลนอาหารโดยเฉพาะประเทศที่นำเข้าอาหาร เช่น แอฟริกา เนื่องจากประเทศผู้ส่งออกอาหารจะไม่สามารถหาวัตถุดิบมาสนับสนุนการผลิตได้เต็มประสิทธิภาพ หรือ หาได้ก็มีต้นทุนสูงมากจนทำให้ต้องปรับราคาให้สูงขึ้นด้วย ราคาสินค้าสูงก็จะผลักดันให้เงินเฟ้อสูงขึ้นเป็นเงาตามตัว ซึ่งเป็นเหตุผลที่รัฐบาลแต่ละประเทศพยายามหลีกเลี่ยง

การหยุดส่งออกข้าวโพดเลี้ยงและข้าวสาลีของผู้ส่งออกรายใหญ่ระดับโลก ทั้งรัสเซีย ยูเครน และอินเดีย มีผลกระทบโดยตรงต่อภาคปศุสัตว์ของไทย เพราะนอกจากราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ดังกล่าวจะปรับสูงขึ้นมากกว่า 30% แล้ว ยังต้องหาแหล่งนำเข้าใหม่ที่เหมาะสมและไม่ทำให้ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์สูงเกินไป ควบคู่กับการบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ ไม่ให้เนื้อสัตว์มีราคาสูงจนประชาชนไม่สามารถเข้าถึงได้

ปัจจุบัน ภาคปศุสัตว์ไทยยังต้องพึ่งพาการนำเข้าทั้งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวสาลี เพื่อทดแทนส่วนที่ขาดแคลนเพราะผลผลิตในประเทศไม่เพียงพอต่อความต้องการ โดยปัจจุบันต้องนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ประมาณ 3 ล้านตัน (ผลผลิตในประเทศมีเพียง 5 ล้านตัน และความต้องการอยู่ที่ 8 ล้านตัน) ส่วนการนำเข้าข้าวสาลี เพราะมีราคาถูกกว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จึงมีการปรับสูตรอาหารสัตว์ใช้ข้าวสาลีเป็นวัตถุดิบทดแทน และแม้รัฐบาลจะผ่อนปรนมาตรการ 3 : 1 เป็นการชั่วคราว เป็นเวลา 3 สิ้นสุดเดือนกรกฎาคม 2565 โดยกำหนดโควต้านำเข้า 600,000 ตัน ภาษี 0% ซึ่งปกตินำเข้าจากเมียนมาและอินเดีย เมื่ออินเดียระงับส่งออกเท่ากับไทยต้องหาแหล่งนำเข้าใหม่ที่ไกลออกไป เช่น ออสเตรเลีย หรือ ประเทศในอเมริกาเหนือ ซึ่งจะมีต้นทุนนำเข้าสูงขึ้น

ทั้งนี้ ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศสัปดาห์ที่ผ่านมา (9-13 พ.ค. 65) อยู่ที่ 13.05 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทยรายงานว่าเป็นราคาที่สูงสุดในรอบ 24 ปี ระดับราคาดังกล่าวเกษตรกรภาคปศุสัตว์คงอยู่ยากในภาวะเช่นนี้

 

 

นอกจากนี้ การที่ไทยต้องเสาะหาแหล่งนำเข้าใหม่ ก็เป็นปัจจัยสำคัญที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสตว์จะต้องสูงขึ้นด้วย ดังนั้นราคาเนื้อสัตว์ช่วงต่อจากนี้ไปอาจจะยืนราคาสูง ตามกลไกตลาดสมดุลราคาและต้นทุนวัตถุดิบในการผลิต จนกว่าสงครามจะเลิกราและผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในประเทศฤดูใหม่จะออกสู่ตลาดและทำให้ต้นทุนข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ลดลง เมื่อนั้นราคาเนื้อสัตว์ก็มีแนวโน้มที่ราคาจะปรับลงตามอุปสงค์-อุปทาน

บทสรุปของ Food Protectionism คือ การบริหารจัดการที่ดีเริ่มตั้งแต่ภาครัฐ ต้องส่งเสริมภาคการผลิตด้วยการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งกฎเกณฑ์ มาตรการและภาษีนำเข้า เพื่ออำนวยความสะดวกให้ภาคการผลิตมีความคล่องตัว สินค้ามีต้นทุนที่สามารถแข่งขันได้ ขณะเดียวกันราคาสินค้าต้องสมดุลเป็นไปตามกลไกตลาด สร้างความเป็นธรรมกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการ “ผู้บริโภคอยู่ได้ ผู้ประกอบอยู่รอด” อาหารไม่ขาดแคลนและไม่หายไปจากตลาด สร้างหลักประกันอาหารมั่นคงและปลอดภัยให้คนไทย โดยไม่จำเป็นต้องใช้ดำเนินนโยบายปกป้องระบบอาหารของตนเอง ในทางกลับกันไทยมีศักยภาพสูงที่จะเป็นแหล่งผลิตอาหารสำคัญ เพื่อเลี้ยงประชากรโลกตามเป้าหมายของประเทศสู่การเป็น “ครัวของโลก” อย่างแท้จริง./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *