29/03/2024

งานเข้า “สภาคุ้มครองของผู้บริโภค”

 

 

ประเด็นร้อน การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค ชอบธรรมหรือไม่ กลายเป็นประเด็นอีกครั้ง หลังเกิดการตอบโต้ประเด็นฟ้องศาลปกครองการจัดตั้งสภาคุ้มครองผู้บริโภคไม่ครบตามที่กฎหมายกำหนด ทำให้มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.)ต้องออกแถลงการณ์ชี้แจงผ่านเว็บไซต์  อย่างไรก็ดีล่าสุดปลัดสำนักนายกฯ ในฐานะนายทะเบียนกลาง แจ้งผลการตรวจสอบเชิงลึก กลับมาที่สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ว่า มี 3 องค์กรใน 151 องค์กร เข้าข่ายมีลักษณะต้องห้ามที่จะรวมตัวจดแจ้งจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 คือ 1.กลุ่มเอ็มลี้รักสุขภาพ จังหวัดลำพูน 2.กลุ่มพึ่งตนเองแม่ป๊อก จังหวัดลำพูน และ 3.ศูนย์คุ้มครองผู้บริโภคตำบลหนองหล่ม อำเภอห้างฉัตร จังหวัดลำปาง และนั่นย่อมจะให้การจดทะเบียนของ 3 องค์กรเป็นโมฆะ และการที่ 3 องค์กรมาร่วมเข้าชื่อเพื่อจดแจ้งจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ย่อมเป็นโมฆะด้วย

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2563 ตัวแทนเครือข่ายองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กร รวมตัวเพื่อยื่นขอเป็นผู้เริ่มก่อการในการจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภคประเทศไทย” แต่เป็นที่สงสัยว่ามีบางองค์กร คุณสมบัติอาจไม่เป็นไปตามกฎหมาย 9 ธันวาคม 2563 นายทะเบียนกลางจึงประกาศจัดตั้ง “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ไม่ได้ สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย พร้อมเครือข่าย จึงตรวจสอบเชิงลึก ด้วยตนเอง และพบว่า 16 องค์กร ใน 5 จังหวัด อาจมีคุณสมบัติหรือลักษณะไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ ใน พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 จากการตรวจสอบ เชื่อว่าน่าจะมีการกระทำกันอย่างเป็นกระบวนการ ในการจัดตั้งองค์กรผู้บริโภคขึ้นมาลอย ๆ เพื่อให้ได้จำนวนเกินกว่า 150 องค์กรตามที่ พ.ร.บ.จัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ.2562 แล้วจะได้นำไปจดแจ้งจัดตั้งเป็น “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ซึ่งกรณีนี้ได้ร้องไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อสั่งการให้ดีเอสไอ ตรวจสอบเชิงลึก 16 องค์กร

ในการนี้ มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค (มพบ.) ได้ชี้แจงผ่านเว็บไซต์ เปิดใจยินดีให้ทุกฝ่ายตรวจสอบ พร้อมเดินหน้าทำหน้าที่ตัวแทนในการคุ้มครองสิทธิผู้บริโภคทุกด้าน พร้อมเตือน ศรีสุวรรณ จรรยา หยุดปั่นกระแสสังคม สร้างความไม่ไว้วางใจต่อสภาฯ โดยระบุว่า ตามที่นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ได้ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภคที่ร่วมมือกันจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคโดยครั้งแรกที่อ้างว่า หากประเทศไทยมีองค์กรผู้บริโภคมากถึง 152 องค์กร ปัญหาผู้บริโภคน่าจะหมดไป แต่หากจะเทียบเคียงกับปัญหาอื่น ๆ หรือปัญหาทุจริตคอรัปชั่นที่นายศรีสุวรรณ ทำงานมานาน ก็ยังมีปัญหาไม่น้อย

 

 

เว็บไซต์มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคระบุต่อไปว่า ครั้งที่สองนายศรีสุวรรณได้นำเครือข่ายสื่อมวลชนปกป้องผลประโยชน์ชาติร้องเรียนการรวมตัวขององค์กรคุ้มครองผู้บริโภค โดยครั้งนี้ ได้เดินทางมายื่นคำร้องต่อ รมว.ยุติธรรม เพื่อขอให้หน่วยงานในสังกัด อาทิ กรมสอบสวนคดีพิเศษ(DSI) ตรวจสอบองค์กรผู้บริโภค 152 องค์กรที่เข้าชื่อกันจัดตั้งเป็นสภาองค์กรของผู้บริโภคนั้น มูลนิธิคุ้มครองผู้บริโภคระบุว่าความพยายามในการตรวจสอบสภาองค์กรของผู้บริโภคทุกวิถีทางของนายศรีสุวรรณที่เป็นไปอย่างผิดสังเกต ทำให้สภาองค์กรของผู้บริโภคได้เริ่มตั้งคำถามต่อเจตนารมณ์ที่แท้จริงของนายศรีสุวรรณว่า นี่เป็นการตรวจสอบด้วยความบริสุทธิ์ใจ หรือมีเบื้องหลังที่จงใจยุยงปลุกปั่นกระแสสังคมให้เกิดความไม่ไว้วางใจต่อสภาฯ ในวงกว้าง

สภาองค์กรของผู้บริโภค เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 ที่ต้องการให้มีองค์การอิสระเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค และได้มีการผลักดันและรณรงค์เรื่อยมาจนถึงรัฐธรรมนูญ 60 จนเกิดพระราชบัญญัติจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภค พ.ศ. 2562

ส่วนการตรวจคุณสมบัติองค์กรของผู้บริโภคเป็นหน้าที่ของนายทะเบียนกลางโดยสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี มีขั้นตอนให้สามารถร้องคัดค้านองค์กรผู้บริโภคได้ตามมาตรา 8 ผู้ใดเห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคที่ได้แจ้งไว้ตามมาตรา 6 มีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา 5 ให้มีสิทธิยื่นคำคัดค้านพร้อมทั้งหลักฐานต่อนายทะเบียนกลาง

เมื่อนายทะเบียนกลางได้รับคำคัดค้านตามวรรคหนึ่ง ให้ดำเนินการสอบข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยโดยเร็ว ในกรณีที่เห็นว่าองค์กรของผู้บริโภคนั้นมีลักษณะไม่ถูกต้องตามมาตรา 5 ให้เพิกถอนการรับแจ้ง พร้อมทั้งแจ้งให้ผู้ร้องและองค์กรของผู้บริโภคที่เกี่ยวข้องทราบ คำวินิจฉัยของนายทะเบียนกลางให้เป็นที่สุด  นายศรีสุวรรณ เป็นนักกฎหมายควรต้องทราบขั้นตอนตามกฎหมายเหล่านี้ดี แต่กลับดำเนินการสร้างข่าวทำให้เกิดความสับสน จนทำให้ประชาชนทั่วไปอาจเข้าใจผิดว่า การได้มาของสภาฯ ไม่โปร่งใส ย่อมเป็นเหมือนการกลั่นแกล้งและสร้างความเสียหายให้กับสภาองค์กรของผู้บริโภคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

ที่มา : https://www.consumerthai.org/consumers-news/network/4608-tcc-14-7-64.html

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *