28/03/2024

อย่าเลือกปฏิบัติ : หมู ไก่ ไข่ อาหารหลัก ราคาควรปรับได้เหมือนสินค้าอื่น

 

โดย…..สมสมัย หาญเมืองบน

สัปดาห์ที่ผ่านมา “ของแพงทั้งแผ่นดิน” เป็นกระแส Talk of the Town ทั่วไทย ทั้งที่ความจริง “ของแพงทั่วโลก” ไม่ใช่เฉพาะประเทศไทย เป็นการสะท้อนความคิดของคนในสังคมเรื่องการบริโภคอาหารและสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวัน ที่สนใจราคาที่ปรับโดยไม่ได้รับฟ้งเหตุผล ทั้งที่เกิดจากปัจจัยหลายด้านทั้งโรคระบาด ภัยแล้งและสงคราม กระทบต่อการผลิตและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลกและห่วงโซ่การผลิตอาหารมั่นคง

เรื่อง “ของแพง” ต้องสร้างความเข้าใจของสังคมให้ถูกต้อง ว่า ประเทศไทยไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เพราะปัจจัยต้นแหตุ คือ วิกฤตระดับโลกที่ไทยไม่สามารถควบคุมได้ทั้งโรคระบาดโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ยืดเยื้อจนถึงขณะนี้ ส่งแรงกระเพื่อมต่อเศรษฐกิจโลกอย่างมีนัยสำคัญ “ของแพง” จึงควรหมายถึงราคาสินค้าทั่วไปและราคาพลังงาน

 

สำหรับประเทศไทย “ของแพง” ที่วิพากษ์กันในวงกว้างอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี 2565 คือ “หมูแพง” ทั้งที่สินค้าบางรายการปรับราคาแรงมาก เช่น น้ำมันพืช และน้ำมันดีเซล แต่สังคมกลับตอบรับกระแสแบบแตะๆ เบาๆ ทั้งที่รับรู้ปัญหาผลกระทบของวิกฤตโลกช้ากว่า “ผู้เลี้ยงหมู” ที่ต้องเผชิญต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ปรับตัวเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 จากภาวะภัยแล้ง ทำให้ผลผลิตธัญพืชโลกลดลง และมาหนักสุดช่วงต้นปี 2565 ที่ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ทะยานสูงขึ้น 25-30% และผลผลิตสุกรหายไป 50% จากการระบาดของโรค ASF ขณะที่ราคาเนื้อสัตว์ อาทิ เนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ไม่สามารถปรับตามกลไกตลาดได้เพราะอยู่ในบัญชีสินค้าควบคุมของกระทรวงพาณิชย์

มองต่างมุมกับสังคมต่อกระแสการปรับราคา เนื้อหมู เนื้อไก่ ไข่ไก่ ซึ่งเราท่านต้องยอมรับความจริงที่ว่า โปรตีนเนื้อสัตว์และไข่ไก่ เป็นสินค้าเกษตรและอาหารหลักของคนไทยทั้งประเทศสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ แต่มีใครเคยกลับไปดูสถิติราคาโปรตีนเหล่านี้บ้างหรือไม่ ว่าที่ในอดีตปรับราคาอย่างไร เทียบกับราคาน้ำมัน หรือ ทองคำ ปรับขึ้นและแนวโน้มปรับขึ้นต่อเนื่องโดยไม่มีการปรับลงอีกเลย และยิ่งหากเทียบกับกาแฟยี่ห้อดังระดับโลก 1 แก้ว ราคาสูงกว่า 100 บาทต่อแก้ว แล้ว ราคาต่างกันลิบลับ แต่ก็ยังได้รับความนิยมไม่เสื่อมคลาย โดยไม่เคยมีใครแตะเรื่องราคา

 

ตัวอย่างราคาอาหารที่เข้าถึงง่ายที่สุดอย่าง ไข่ไก่ ราคาเฉลี่ยเมื่อ 20 ปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณฟองละ 2.20 บาท เทียบกับปัจจุบันที่ราคาปรับขึ้นเพียง 1 บาทเท่านั้น ขณะที่ในอดีตน้ำมันเบนซินต่ำกว่า 20 บาทต่อลิต แต่ปัจจุบันราคาสูงกว่า 40 บาทต่อลิตร เห็นได้ว่าราคาไข่ไก่ปรับขึ้นเพียงน้อยนิด เช่นเดียวกับเนื้อไก่และเนื้อหมู ยิ่งอยู่ในช่วงวิกฤตซ้อนวิกฤตที่ต้นทุนและปัจจัยการผลิตเพิ่มขึ้นรอบด้าน ต้นทุนกับราคาขายเรียกได้ว่า “หายใจรดต้นคอ” กันที่เดียว เช่น สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศต้นทุนการผลิตสุกรที่ 98.81 บาทต่อกิโลกรัม ขณะที่ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์มสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติควบคุมราคาทั่วประเทศอยู่ที่ 100 บาทต่อกิโลกรัม ส่วนเนื้อไก่ อีกหนึ่งโปรตีนทางเลือกทั้งที่ต้องแบกต้นทุนสูงไม่ต่างกับผู้เลี้ยงไก่ไข่ และผู้เลี้ยงหมู แต่ก็กัดฟันบริหารจัดการภายในเต็มประสิทธิภาพเพื่อปรับราคาให้น้อยสุด โดยราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มมีการปรับจากต้นปีที่ 39 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 42 บาทต่อกิโลกรัมขณะนี้

อย่างไรก็ตาม ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ และไข่ไก่ ล้วนเป็นสินค้าที่ไม่ได้ปรับราคาได้ตามอำเภอใจหรือตามกลไกตลาด แต่อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงพาณิชย์ เนื่องจากเป็นอาหารหลักที่จำเป็นต่อการบริโภคของคนไทย ดังนั้นแม้การปรับราคาขึ้นของไข่ไก่แม้เพียงฟองละ 10-20 สตางค์ต่อฟ่องต่อครั้ง หรือ ราคาหมูเป็นหน้าฟาร์ม 2-4 บาทต่อครั้งในวันพระ ก็สร้างกระแสวิพากย์วิจารณ์จากสังคมได้ยิ่งใหญ่ ว่าราคาแพง อาจสร้างความน้อยเนื้อต่ำใจให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ได้มาก เมื่อเทียบกับการที่ผู้บริโภคซื้อกาแฟแบรนด์ดังๆ สักแก้วที่ราคา 100 กว่าบาท โดยไม่ปริปากแม้แต่คำเดียว

 

ความจริงในวันนี้คือ ราคาสินค้าอุปโภค-บริโภค พาเหรดขอปรับราคาขึ้นจากกระทรวงพาณิชย์ เพราะไม่สามารถแบกรับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นแบบยังไม่มีที่ยุติ ภาครัฐก็ควรนำกลไกการตลาดมาบริหารจัดการให้เหมาะสมหล่อเลี้ยงธุรกิจให้อยู่รอด สร้างสมดุลระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค ซึ่งเกษตรกรและผู้ประกอบการก็เป็นผู้บริโภคกลุ่มหนึ่งที่มีความรับผิดชอบต่อสังคม คือ การผลิตให้เพียงพอต่อความต้องการ ตลอดจนต้องรับผิดชอบพนักงานและสิ่งแวดล้อม การทำฟาร์มปศุสัตว์หรือทำธุรกิจด้วยสถานะการขาดทุนสะสมสูงและต่อเนื่อง จะก่อให้เกิดผลที่ตามมา คือ การเลิกทำฟาร์มหรือปิดกิจการ เพื่อตัดปัญหาการขาดทุน จะทำให้สินค้าหายไปจากตลาดและหากไม่ได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว สถานการณ์ “ข้าวยาก หมากแพง” จะเข้ามาเยือนประเทศไทยแน่นอน./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *