20/04/2024

เกษตรกรทุกข์หนัก ร้อนแล้งซ้ำเติมภาระต้นทุนรอบด้าน ซ้ำต้องขายสินค้าขาดทุน

 

 

โดย จิตรา ศุภาพิชญ์ นักวิชาการอิสระ ศึกษาด้านการเกษตร

ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร คาดการณ์สถานการณ์ภัยแล้งปี 2565 นี้ มีแนวโน้มขาดแคลนน้ำ จากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยประเทศไทยเข้าสู่ช่วงฤดูแล้งมาตั้งแต่ช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ และอาจแล้งต่อเนื่องยาวนานไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม 2565 ซึ่งจะทำให้ปริมาณน้ำทั้งในแหล่งน้ำธรรมชาติและแหล่งน้ำชลประทานเหือดแห้งลง

ยิ่งมีอากาศร้อนมาสมทบกับภัยแล้ง ก็ยิ่งมีผลต่อการเลี้ยงสัตว์ทุกชนิด โดยเฉพาะการเลี้ยงแบบปล่อย หรือเลี้ยงในโรงเรือนเปิดที่ไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิได้ จะได้รับผลกระทบและเกิดความเสียหายต่อฝูงสัตว์อย่างมาก

จากธรรมชาติของสัตว์ทั้ง หมู ไก่เนื้อ ไก่ไข่ ที่การระบายความร้อนออกจากร่างกายต้องใช้วิธีการหอบหายใจเท่านั้น เนื่องจากสัตว์เหล่านี้ไม่มีต่อมเหงื่อที่ช่วยระบายความร้อนเหมือนคน ซึ่งอาการหอบจะส่งผลต่อเนื่องกับตัวสัตว์ ยิ่งในแม่หมูอุ้มท้อง ความร้อนในร่างกายที่สูงเกินไปประกอบกับมีอาการหอบทำให้เกิดภาวะแท้งเฉียบพลัน รวมถึงลูกมัมมี่ หรือลูกที่ตายในท้องแม่มากขึ้น ส่งผลให้เปอร์เซ็นต์เข้าคลอดต่ำ จำนวนลูกแรกคลอดลดลง มีผลต่อเนื่องไปถึงจำนวนลูกหย่านม และปริมาณหมูขุนที่มีจำนวนน้อยลงตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน อุณหภูมิในอากาศที่สูงขึ้นระหว่าง 26-32 องศาเซลเซียส จะทำให้สัตว์เริ่มกินอาหารลดลงและกินน้ำได้มากขึ้น การกินอาหารลดลงทำให้สัตว์ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ ในแม่หมูอุ้มท้องจะส่งผลให้ลูกแรกคลอดมีน้ำหนักต่ำ ทำให้น้ำหนักลูกหย่านมต่ำตามไปด้วย ส่วนในหมูขุนการกินได้น้อย ส่งผลให้อัตราการเจริญเติบโตต่ำลง ใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงนานขึ้น เกษตรกรอาจต้องขายหมูขุนตัวเล็กลง ที่สำคัญความเครียดสะสมมีผลให้อัตราเจ็บป่วยในหมูทุกๆรุ่นเกิดขึ้นได้มากกว่าปกติ กลายเป็นต้นทุนการเลี้ยงของเกษตรกรที่ต้องเพิ่มสูงขึ้นอย่างยากจะหลีกเลี่ยง

ในไก่เนื้อและไก่ไข่ก็ได้รับผลจากสภาพอากาศไม่ต่างกัน โดยเฉพาะอาการหอบที่มีผลต่ออัตราการให้ผลผลิตที่จะลดลง และอัตราเสียหายที่เพิ่มขึ้น อาทิ ปริมาณแม่ไก่ไข่คัดทิ้งจากกรณีไข่แตกในท้องมากขึ้น แม่พันธุ์อ่อนแอมีอัตราเจ็บป่วยและตายเพิ่ม แม่ไก่เครียดจนไม่ออกไข่ ขณะที่การกินอาหารน้อยทำให้มีสารอาหารไม่เพียงพอสำหรับการผลิตฟองไข่ จึงเกิดไข่แตก บุบ ร้าว ได้ง่ายขึ้น ผลผลิตไข่ไก่ลดลง ฟองไข่ที่ผลิตได้เล็กลง การขายเป็นไข่ไก่คละหน้าฟาร์มได้ไข่คละเล็กและคละกลางเป็นส่วนใหญ่ รายได้ของเกษตรกรจึงต่ำลง

ส่วนไก่เนื้อการเจริญเติบโตจะต่ำลงจากการกินอาหารได้ลดลง ความเสียหายจากภาวะอากาศจะเพิ่มขึ้น ปริมาณไก่จับออกได้น้อยลง การเลี้ยงไก่ให้ได้น้ำหนักจับออกตามมาตรฐานต้องยืดระยะเวลาออกไปอีก ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น แต่กลับได้ผลผลิตน้อยลง

ผลกระทบจากภาวะแล้งและอากาศร้อนเช่นนี้ นอกจากจะทำให้อัตราเสียหายมาก ปริมาณผลผลิตลดลง มีต้นทุนที่สูงขึ้นแล้ว ยังมีต้นทุนแฝงอีกโดยเฉพาะค่าน้ำที่จำเป็นต้องซื้อมาให้สัตว์ในฟาร์มได้กินได้ใช้ เนื่องจากภัยแล้งที่กำลังคุกคามในหลายพื้นที่ทั้งในเขตภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือหลายจังหวัด ส่งผลต่อต้นทุนการผลิตที่ต้องสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นในการเลี้ยงหมูขุนที่ต้องมีต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก 300-600 บาทต่อตัว ขณะที่สถานการณ์ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ยังคงไม่คลี่คลาย การสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ข้อเสนอของรัสเซียให้ทหารยูเครนวางอาวุธ ก็ถูกปฏิเสธและยูเครนยังคงยืนยันว่าจะต่อสู้จนถึงที่สุด เมื่อสองประเทศยักษ์ใหญ่ผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชของโลกห้ำหั่นกัน ประเทศอื่นๆที่พึ่งพาการนำเข้าธัญพืชจากทั้งสองประเทศย่อมได้รับผลกระทบเป็นธรรมดา แม้แต่พืชอาหารสัตว์ชนิดอื่นๆ ก็พลอยราคาปรับขึ้นตามไปด้วย ผู้ใช้ผลผลิตเพื่อทำเป็นอาหารสัตว์และภาคเกษตรกรต้องก้มหน้ารับผลกระทบนี้ไปอย่างไม่อาจหลีกหนีได้

ยังไม่นับผลกระทบด้านพลังงานที่นับวันราคาพลังงานยิ่งจะปรับขึ้น จากผลพวงของการสู้รบดังกล่าว ในไทยเองก็โดนหางเลขไปด้วย เมื่อล่าสุดรัฐบาลไทยต้องยอมยกธงขาว ตัดสินใจเลิกอุ้มน้ำมันดีเซลตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป ทำให้ต้นทุนด้านการขนส่งต้องปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหมายรวมถึงต้นทุนในภาคการเกษตรที่ต้องพุ่งขึ้นเช่นกัน เช่นในภาคผู้เลี้ยงสัตว์ที่อาศัยเครื่องยนต์น้ำมันในการหมุนมอเตอร์พัดลมในโรงเรือนปิดแบบ EVAP ก็ต้องมีต้นทุนค่าน้ำมันเพิ่มขึ้นอย่างไม่ต้องสงสัย

ภาระหนักอึ้งทั้งราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ ค่าน้ำมันในภาคขนส่งและการใช้พลังงานภายในฟาร์ม ค่าน้ำที่จำเป็นต้องซื้อมาใช้ ค่าไฟฟ้าที่ต้องใช้ในการเดินระบบการทำความเย็นในฟาร์ม กลายเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่เกษตรกรต้องแบกรับ ในขณะที่การขายสินค้าเกษตรยังคงต่ำกว่าต้นทุนการผลิต

อย่างเช่น การเลี้ยงหมูที่ขณะนี้ต้นทุนสูงถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัมแล้ว ขณะที่เกษตรกรขายหมูขุนมีชีวิตหน้าฟาร์มได้เพียง 94 – 98 บาทต่อกิโลกรัมเท่านั้น ส่วนเกษตรกรเลี้ยงไก่เนื้อยังถูกขอให้รักษาระดับราคาขายไก่หน้าฟาร์มไว้ที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเท่ากับต้นทุนการเลี้ยงที่ 40 บาทต่อกิโลกรัม ด้านผู้เลี้ยงไก่ไข่ก็ทุกข์ไม่แพ้กัน จากประกาศราคาขายไข่ไก่คละหน้าฟาร์มที่ฟองละ 3.40 บาท ผู้เลี้ยงยังคงตรึงราคาขายไข่ไว้ที่ 3.30 – 3.40 บาทต่อฟอง ตามที่กรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ขอความร่วมมือไว้ โดยผลผลิตไข่ไก่ช่วงนี้เป็นไข่ไก่คละเล็กและคละกลาง จึงขายได้ราคาต่ำกว่าราคาประกาศดังกล่าว

ทางออกที่ดีที่สุดของเกษตรกรคือ “การปล่อยให้กลไกตลาดได้ทำงาน” และให้ผู้เลี้ยงสามารถขายสินค้าที่สะท้อนต้นทุนการผลิตได้ ก่อนที่เกษตรกรจะม้วนเสื่อเลิกเลี้ยงสัตว์เพราะรับภาระต้นทุนสูงแต่ต้องขายสินค้าขาดทุนไม่ไหว ถึงวันนั้นความมั่นคงทางอาหารย่อมสั่นคลอนแน่นอน./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *