25/04/2024

“กลไกตลาด” ทางรอดเกษตรกร ฝ่าวิกฤตร้อนแล้ง วัตถุดิบอาหารสัตว์พุ่ง

 

โดย : กัญจาฤก แว่นแก้ว นักวิชาการด้านปศุสัตว์

เทศกาลสงกรานต์เวียนมาอีกครั้ง และเป็นประจำทุกปีที่ช่วงนี้ราคาสินค้าทุกชนิดจะปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและปศุสัตว์ จาก 3 ปัจจัยสำคัญ ได้แก่ ปริมาณผลผลิตที่น้อยลงจากผลกระทบของสภาพอากาศ ปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาล และต้นทุนการผลิตของเกษตรกรที่เพิ่มขึ้น

● ปริมาณผลผลิตที่น้อยลงจากผลกระทบของสภาพอากาศ
สภาพอากาศร้อนปรอทแตกในช่วงมีนาคม-เมษายน-พฤษภาคม ส่งผลต่อความเป็นอยู่ของสัตว์ ทำให้เกิดความเครียดสะสมจากความร้อนที่เกิดขึ้นในร่างกาย โดยเฉพาะหมูและไก่ ที่ไม่มีต่อมเหงื่อช่วยระบายความร้อนออกจากร่างกาย หากอากาศร้อนจัดสัตว์จะเริ่มแสดงอาการหอบ หายใจแรง เมื่ออุณหภูมิสูง 26-32 องศาฯ หมูจะลดการกินอาหารลง แต่กินน้ำมากขึ้น เพื่อช่วยลดความร้อนในร่างกาย การกินอาหารน้อยทำให้สารอาหารที่ได้ไม่เพียงพอกับแม่หมูอุ้มทอง ความร้อนในร่างกายอาจทำให้แม่หมูแท้ง ลูกตายในท้องมากขึ้น อัตราเข้าคลอดลดลง ส่วนในหมูขุนลูกหมูกินอาหารลดลงอัตราการเจริญเติบโตจึงต่ำ ใช้เวลาเลี้ยงนานขึ้น หรือเกษตรกรต้องขายหมูเล็ก รวมทั้งการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นได้มากกว่าปกติจากความเครียดสะสมเมื่อต้องอยู่ในสภาพอากาศร้อนตัด เมื่อปริมาณผลผลิตลดลงย่อมทำให้ต้นทุรการเลี้ยงของเกษตรกรเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ส่วนในแม่ไก่ไข่สารอาหารที่ไม่เพียงพอกระทบกับการสร้างฟองไข่ ผลผลิตไข่ไก่จึงลดลง ขนาดฟองไข่เล็กลง ไข่ไก่คละหน้าฟาร์มเกษตรกร เป็นไข่คละกลางและคละเล็กเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งราคาขายจะต่ำกว่าราคาประกาศของสมาคมผู้ผลิตผู้ค้าและส่งออกไข่ไก่ ส่วนไก่เนื้อเมื่อการกินได้ลดลง อัตราเติบโตต่ำลงๆ อัตราเสียหายในฟาร์มมากขึ้น

 

● ปริมาณการบริโภคที่สูงขึ้นในช่วงเทศกาล
เดือนเมษายนของทุกปี เป็นช่วงที่ประชาชนเดินทางท่องเที่ยวและกลับภูมิลำเนา ทั้งในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทำให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวอย่างโรงแรม ห้างสรรพสินค้า และร้านอาหาร คึกคักมากขึ้น และยังมีเทศกาลเช็งเม้ง ที่ความต้องการบริโภคเนื้อหมูเพิ่มขึ้น ขณะที่ปริมาณผลผลิตลดลงดังกล่าวข้างต้น ทำให้แนวโน้มราคาสินค้าสูงขึ้น ตามหลักอุปสงค์และอุปทาน

● ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น วัตถุดิบอาหารสัตว์ราคาพุ่ง
ต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ประกอบกับแรงกดดันจากปัญหาการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน สองประเทศผู้ผลิตและส่งออกธัญพืชอาหารสัตว์รายใหญ่ของโลก ที่ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ทั่วโลกปรับเพิ่มขึ้นเป็นประวัติการณ์ และยังกระทบกับต้นทุนด้านพลังงาน ส่งผลให้ค่าขนส่งสินค้าปรับตัวสูงขึ้นอีก ส่วนในภาคการเลี้ยงสัตว์กำลังเผชิญหน้ากับวิกฤติภัยแล้ง ที่กระทบกับปริมาณน้ำกินน้ำใช้ในฟาร์มหลายพื้นที่ต้องซื้อน้ำมาใช้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้เหมาะสม สะอาด ปลอดภัยกับสัตว์ รวมถึงต้นทุนค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้นจากการต้องเปิดระบบการควบคุมและระบายอากาศในช่วงฤดูร้อนนี้

ปัจจัยทั้งหมด ส่งผลกับการผลิตสินค้าเกษตรปศุสัตว์โดยตรง เมื่อปริมาณผลผลิตลดลง สวนทางกับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ทำให้ราคาปรับขึ้น “ตามกลไกตลาด” ในช่วงเวลานี้ ซึ่งไม่ได้ทำให้เกษตรกรผู้ผลิตร่ำรวยขึ้นจากสถานการณ์นี้ และต้องไม่ลืมว่าที่ผ่านมานั้นเกษตรกรต้องแบกรับภาระขาดทุนและต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาตลอด

ภาคผู้ซื้อปลายทางรวมทั้งภาครัฐ ต้องทำความเข้าใจกับธรรมชาติของสินค้าเกษตรว่า ราคามีขึ้นย่อมมีลงเป็นธรรมดา ดังนั้น “การปล่อยให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรี” เปิดทางให้อุปสงค์อุปทานได้ทำงาน ให้ความต้องการตลาดเป็นตัวชี้นำราคา และควรยกเลิกมาตรการควบคุมราคาสินค้าตลอดห่วงโซ่การผลิต ถือเป็นทางออกและทางรอดของเกษตรกร เพื่อให้พวกเขาได้ผลิตและจำหน่ายสินค้าในราคาที่สะท้อนต้นทุนที่สูงขึ้น ส่งเสริมและสนับสนุนให้เกษตรกรได้ผลิตสินค้าตามกำลังของตนเองต่อไป และกลไกตลาดเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้พวกเขาสามารถวางแผนการผลิต รองรับการบริโภคของประชาชนคนไทย ถือเป็นแนวทางในการสร้างความมั่นคงทางอาหาร ด้วยฝีมือเกษตรกรไทย เพื่อคนไทยอย่างแท้จริง./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *