20/04/2024

เกษตรกรรายย่อย-เอกชน ร่วมใจเร่งฟื้นฟูฟาร์ม สร้างอนาคตใหม่คนเลี้ยงหมู

 

โดย    สมสมัย หาญเมืองบน

 

สถานการณ์หมูแพง หมูขาด หมูเป็นโรคระบาด ในไทยขณะนี้เปรียบเหมือน “ฟ้าหลังฝน” เมื่อภาพเลือนข้างหน้าชัดเจนขึ้น รัฐบาลประกาศมาตรการช่วยเหลือที่เป็นรูปธรรม  เกษตรกรเห็นหลักประกันอนาคตก็พร้อมเริ่มต้นใหม่ด้วยความระมัดระวังกว่าเดิม เริ่มจากเร่งปรับปรุงเล้าหรือโรงเรือนให้ได้มาตรฐานสุขอนามัยที่ดีตามมาตการป้องกันโรคที่ได้รับคำแนะนำจากกรมปศุสัตว์ เตรียมรับลูกหมูล็อตใหม่เข้าเลี้ยงใหม่หลังพักเล้าไปนาน

หลังคณะรัฐมนตรีจะอนุมัติงบประมาณ 574 ล้าน เพื่อเยียวยาเกษตรกรรายย่อยที่ต้องทำลายหมูติดโรค นับเป็นเงินทุนหมุนเวียนก้อนใหม่สำหรับต่อลมหายใจของเกษตรกรที่ต้องแบกภาระขาดทุนสะสมก้อนโตจากโรคระบาด ทำให้หลายรายมีความหวังว่ายิ่งนำหมูเข้าเลี้ยงได้เร็วเท่าไรจะได้ลืมตาอ้าปาก ที่สำคัญช่วยให้คนไทยมีเนื้อหมูเพียงพอในราคาที่เหมาะสมเร็วขึ้น หมูปิ้งจะชิ้นใหญ่ขึ้น หมูกระทะจะกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ เพราะเราเชื่อว่า “ไม่มีวิกฤตไหนที่คนไทยไม่ช่วยกัน”

ขณะนี้ทั้งเกษตรกรในพื้นที่ภาคอีสานและภาคเอกชน ร่วมผนึกกำลังกันเป็นพื้นที่นำร่องในการจัดอบรมและส่งเสริมความรู้ด้านมาตรฐานฟาร์ม แนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันโรคและความปลอดภัยทางชีวภาพ (Bioseucrity) เพื่อป้องกันโรคจากภายนอกขณะเดียวกันเป็นการควบคุมไม่ให้โรคแพร่กระจายมาสู่ภายนอก ซึ่งจะช่วยให้เกษตรกรสามารถนำหมูเข้าเลี้ยงได้เร็วขึ้น คาดว่าผลผลิตจะออกสู่ตลาดได้ภายใน 8-12 เดือน ตามเป้าหมายของกรมปศุสัตว์  อย่างไรก็ตาม มาตรการเยียวยาของภาครัฐทั้งเงินชดเชย สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพ อาหารสัตว์ ต้องจัดเต็มทั้งปริมาณและคุณภาพในราคาที่เหมาะสม เพื่อให้การผลิตครั้งใหม่มีมาตรการเฝ้าระวังโรคที่แม่นยำ และมีประสิทธิภาพในการป้องกันและควบคุมโรค

สถานการณ์สร้างการเปลี่ยนแปลงผู้เลี้ยงหมูสู่ “วิถีใหม่” หลังประสบปัญหาโรคหมูรุมเร้าในช่วงที่ผ่านมา การทำฟาร์มมาตรฐานแทนการเลี้ยงแบบดั้งเดิมจึงเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง โดยกรมปศุสัตว์ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ลงตรวจสอบพื้นที่และให้ความรู้ คำแนะนำกับเกษตรกรในการปรับปรุงโรงเรือนให้ได้มาตรฐานเพื่อการป้องกันโรคสูงสุดและเรียนรู้ในการควบคุมโรคให้อยู่ในวงจำกัด พร้อมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคต

เช่นเดียวกับ สินธุ ปัญญาศักดิ์ สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า เกษตรกรรายย่อยในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ ภาคอีสาน และภาคกลาง อยู่ระหว่างการฟื้นฟูฟาร์มเตรียมต้อนรับลูกหมูเข้าเลี้ยงรอบใหม่ สมาชิกผู้เลี้ยงสุกรเชียงใหม่-ลำพูน อ.เมือง จังหวัดลำพูน กล่าวว่า ขณะนี้เกษตรกรรายย่อยหลายรายทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงใหม่และลำพูน มีความพร้อมมากที่จะเริ่มต้นใหม่ แต่ละคนมุ่งมั่นปรับปรุงฟาร์มตามหลักวิชาการ มีระบบการป้องกันโรคและการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม (Good Farming Management : GFM) ระบบการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างเกราะป้องกันโรค ลดความเสี่ยงและการสูญเสียไม่ให้หวนกลับมาอีก และพร้อมเป็นกำลังสำคัญในการผลิตเนื้อหมูคุณภาพดีให้คนไทยมีอาหารปลอดภัยบริโภคอย่างเพียงพอ

“แทนที่เราจะมีนั่งโทษฟ้าโทษฝนกับสิ่งที่ผ่านไปแล้วมันไม่เกิดประโยชน์อะไร โรคระบาดสัตว์มันเกิดทั่วไปหมด ต้นตอก็ไม่ได้เกิดจากเราแต่มันกระจายเข้ามา ชีวิตมันต้องเดินต่อไป ตอนนี้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องต้องหันหน้าเขาหากันแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบ ฉุดเกษตกรเลี้ยงหมูที่ล้มให้ลุกขึ้นยืน ร่วมแก้ปัญหาหมูแพง หมูขาดให้เร็วที่สุด” สินธุ กล่าว

ด้าน น.สพ.วิวัฒน์ พงษ์วิวัฒนชัย อุปนายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ คาดการณ์ว่าเกษตรกรจะกลับมาเลี้ยงสุกรในปี 2565 ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดการระบาดของโรคโควิด-19 หลังจากที่คนเลี้ยงตัดสินใจชะลอการเลี้ยงหรือเข้าเลี้ยงสุกรบางลงไม่เต็มการผลิตของฟาร์ม เพื่อหลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งจากภาวะโรค รวมถึงรอดูสถานการณ์โรคโควิด-19 โดยเชื่อว่าต้องใช้เวลาประมาณ 2-3 ปีที่ภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงหมูจะกลับมาเป็นปกติ และผู้เลี้ยงกลับมาเลี้ยงหมูได้ 100%

“หลังไทยประกาศเขตโรคระบาดอย่างเป็นทางการแล้ว มาตรการที่ต้องเดินหน้าต่อคือเรื่องการฟื้นฟูอุตสาหกรรมเลี้ยงสุกรให้เข้มแข็งเหมือนเดิม ต้องให้ความรู้ทั้งเกษตรกรในการป้องกันโรคขณะเดียวกันต้องให้ความรู้ผู้บริโภคว่าโรคนี้ไม่ติดคน เนื้อหมูปรุงสุกกินได้ เพื่อให้ผลผลิตรอบใหม่มีตลาดรองรับ ให้กลไกการตลาดกลับมาทำงานได้เหมือนเดิม” น.สพ.วิวัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้แต่งตั้งคณะกรรมการพัฒนาและส่งเสริมงานวิจัยโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร (African Swine Fever : ASF) โดยมีคณะกรรมการจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สมาคม และคณะสัตวแพทยศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อระดมสมองหาแนวทางการป้องกันและควบคุมโรค ASF อย่างมีประสิทธิภาพและส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ ตลอดจนการพัฒนาวัคซีน ASF ในสุกรต้นแบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย รวมถึงใช้เป็นต้นแบบให้แก่เกษตรกรในประเทศแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้อีกด้วย./

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *