23/04/2024

ซัมมิทประชาธิปไตย แค่ทอล์คโชว์การเมือง

 

 

สัมภาษณ์พิเศษ

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์

อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

 

การประชุมสุดยอดเพื่อประชาธิปไตย  หรือ Summit for Democracy  ระหว่างวันที่ 9-10 ธันวาคม 2564 ที่รัฐบาลสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เชิญประเทศต่างๆ รวม 110 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมผ่านระบบออนไลน์โดยไม่ปรากฏรายชื่อ “ประเทศไทย”นั้น  เป็นทั้งเรื่องน่าแปลกใจและเป็นประเด็นการเมืองที่ก่อให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ตามมามากมายซึ่งไม่มีใครสามารถหาคำตอบได้ชัดเจน  เพราะทั้งสหรัฐอเมริกาที่เป็นเจ้าภาพก็มิได้อธิบายถึงเหตุผลกลใดว่าทำไมกลุ่มอาเซียนจึงเชิญแค่ 3 ประเทศคือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์  ในขณะที่นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า  “ไม่แปลกที่ไม่ได้เชิญ  เป็นดาบ 2 คมถ้าได้รับเชิญ”

อย่างไรก็ตามสิ่งที่โลกสนใจติดตามการประชุมครั้งนี้คือสาระสำคัญของการประชุมที่เน้นเรื่อง  การต่อต้านเผด็จการและอำนาจนิยม  การปราบปรามการทุจริตคอรัปชั่น  การส่งเสริมสิทธิมนุษยชน  และการส่งเสริมประชาธิปไตย  ซึ่งเป็นที่รู้กันว่านัยยะแอบแฝงแต่ไม่ปิดบังของซัมมิทเพื่อประชาธิปไตยก็คือ  การยกตนเองของสหรัฐอเมริกาว่ายังเป็นผู้นำโลกด้านประชาธิปไตย  พร้อมๆกับการแบ่งข้างหาพวกเพื่อ “ปิดล้อมจีน” มหาอำนาจอันดับสองที่กำลังแข่งรัศมี  เพื่อสกัดกั้นการเติบโตและการขยายอิทธิพลในเวทีโลก

เพื่อทำความเข้าใจถึงเกมการเมืองระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา  ผลที่จะมีต่อไทย  และสิ่งที่จะตามมาในอนาคตภายหลังการประชุมซัมมิทประชาธิปไตย  จึงได้มีการนัดหมายสัมภาษณ์พิเศษ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์  อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ  ที่คนไทยจดจำในนาม “หมอแมกไซไซ”  ปัจจุบันท่านเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกริก  โดยสรุปมุมมองของหมอกระแสดังนี้

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.นพ.กระแส ชนะวงศ์

 

1.มองแบบกลางๆแบบไทยๆ  ในช่วงจังหวะนี้การที่สหรัฐอเมริกาไม่เชิญไทยไปร่วมประชุมนั้นเป็นผลดีกับไทยในแง่ที่ว่า  ตอนนี้รู้กันอยู่ว่าสหรัฐฯกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีความขัดแย้งกันอยู่   หากสหรัฐฯเชิญมาแล้วไทยไปร่วมประชุมไทยจะลำบาก  แต่ถ้าไม่ไปก็จะเกิดปัญหาว่าทำไมจึงไม่ไป  เมื่อไม่เชิญมาก็ดีแล้ว  ไทยเป็นตัวของตัวเองก็อยู่เฉยๆ  ประเทศอื่นๆก็มีอีกตั้งเยอะแยะที่เขาไม่ได้เชิญเช่นกันก็ไม่เห็นว่ามีปัญหาอะไร

2.เรื่องของสหรัฐฯก็เป็นเรื่องของสหรัฐฯ  แต่ยังไงสหรัฐฯก็ต้องหวังพึ่งไทย  เพราะไทยเป็นจุดศูนย์รวมของอาเซียนที่สำคัญมาก  ที่ผ่านมาไทยรักษาจุดยืนได้ดีพอสมควร  ในสถานการณ์แบบนี้ตนยังเชื่อมั่นศรัทธาว่ากระทรวงการต่างประเทศของไทยมีคนเก่งๆอยู่มาก  โดยรัฐมนตรีดอน ปรมัตถ์วินัย เป็นที่คนเจนเวที มีประสบการณ์สูงด้านการต่างประเทศ   ตอนตนเป็นรัฐมนตรีต่างประเทศ  นายดอนเป็นทูตอยู่ที่ประเทศจีน  คนที่เคยเป็นทูตแล้ววันหนึ่งมาเป็นนักการเมืองยังไงก็ยังรักษาความเป็นทูต

3.หากมองจากมุมจีน  จีนอาจจะเข้าใจว่าไทยคงไม่เล่นด้วยกับสหรัฐฯไปทุกเรื่อง  หรือสหรัฐฯคงไม่ได้รับความร่วมมือจากไทยเท่าที่ควรก็เลยเตือนไทยโดยการไม่เชิญ  จีนอาจจะรู้สึกเชื่อมั่นในไทยมากขึ้นแม้ว่าไทยจะไม่ได้เอ่ยปากออกหน้าว่าเข้าข้างจีน  แต่แสดงถึงความมั่นคงว่าไทยไม่ได้เอนเอียงเข้าข้างตะวันตกไปทุกเรื่อง

4.สหรัฐอเมริกาทำตามประสาอเมริกัน  คือไม่เคยรู้จักเกรงใจใคร และไม่เคยรู้จักเอาใจใครตามที่ควร  อยากทำอะไรก็ทำ  ทำแล้วก็มีโอกาสพลาดเยอะ  ชาติที่เข้าร่วมประชุม 110 ประเทศใช่ว่าจะชอบสหรัฐฯทั้งหมด  เมื่อเชิญมาก็เข้าร่วมประชุม  แต่เวลาแสดงความคิดเห็นเขาอาจจะไม่เห็นด้วยกับอเมริกาก็ได้

โจ​ ไบเดน​ ขณะเปิดการประชุม​Summit​ ​for Democracy

 

อเมริกาวันนี้แม้จะมีความเจริญก้าวหน้าด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การศึกษา  แต่วิธีการด้านการต่างประเทศไม่เคยเปลี่ยนแปลงคือเป็น “นักเลงโต” คิดว่าตัวเองใหญ่ที่สุด เก่งที่สุด  ไม่รู้จักเกรงใจคนอื่น  ไม่รู้จักอ่อนน้อมถ่อมตน  ตามสไตล์อเมริกัน  ไม่ว่าจะเป็นเดโมแครต หรือรีพับริกันก็จะมาแบบนี้  โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่พูดว่า America First ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าอเมริกาเห็นแก่ตัว  ภาพที่ออกมาคือจะไปอยู่ที่ไหนกับใครก็เอาเปรียบคนอื่นเสนอ  ผู้นำที่พูดแบบนี้เสียหาย  เพราะผู้นำต้องรู้จักให้คนอื่นก่อน  ภาวะผู้นำของสหรัฐฯไม่น่ารักเท่าที่ควร ทั้งๆที่ตำราฝรั่งเองที่เขียนเกี่ยวกับภาวะผู้นำบอกไว้ว่าอย่า อีโก้  ถ้าอีโก้เมื่อไรจะสร้างศัตรูให้แก่ตัวเอง หรือ EGO IS THE ENEMY

  1. เปรียบเทียบกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ที่มาจากประชาชนพื้นฐานจนกระทั่งก้าวสู่ผู้นำประเทศ แต่แสดงความสุภาพทุกครั้ง  ไปไหนมาไหนก็ไม่ได้แสดงถึงความยิ่งใหญ่  แต่เวลาพูดจะชัดถ้อยชัดคำ  คม  บ่งบอกถึงความรับผิดชอบสูงสุดในคำพูด  แต่โจ ไบเดน เทียบแล้วเป็นมวยคนละรุ่น  บุคลิกภาพภาวะผู้นำเวลาพูดดูเหมือนไม่มั่นใจในตัวเอง  แต่คงเพราะอยากเอาชนะโดนัลด์ ทรัมป์ ที่เคยดูถูกว่าถ้าคนอเมริกันเลือกไบเดน  เท่ากับว่าปล่อยให้อเมริกาเป็นลูกน้องจีน  ไบเดนจึงต้องพิสูจน์ว่าตนเองทำให้อเมริกาเหนือกว่าจีน  แต่ยิ่งพูดยิ่งทำก็เหมือนกับพันตัวเองจนยิ่งลำบากจนดิ้นไม่หลุด
  2. การเจรจาสุดยอดผู้นำสองชาติเพิ่งผ่านไปไม่กี่วัน โจ ไบเดนรับรอง “จีนเดียว”  แต่มาจัดซัมมิทประชาธิปไตยแล้วเชิญ “ไต้หวัน”เข้าร่วม  มีผลให้ความเชื่อมั่นศรัทธาของสหรัฐอเมริกาลดหย่อนลง  ก่อนหน้านี้พันธมิตรตะวันตกบางประเทศก็เริ่มรู้สึกว่าไม่ดีไม่เหมาะสมที่สหรัฐฯมาชวนไปร่วมทะเลาะกับจีน  ในขณะที่บางประเทศผู้นำขาดความเป็นตัวของตัวเองไปเข้าร่วมล้อมจีน เช่นแคนาดา ออสเตรเลีย ซึ่งต้องเจอการตอบโต้กลับ  เพราะจีนเดี๋ยวนี้ใหญ่พอที่จะไม่ปล่อยวางเฉยอย่างเมื่อก่อนที่ยอมอ่อนข้อ  มีพลังพอที่จะบอกว่าถ้าลื้อทำอย่างนี้อั้วก็ทำอย่างนี้ได้  ลื้อไม่ซื้อของอั้วๆก็ไม่ซื้อของลื้อเหมือนกัน  10 ปีที่ผ่านมานานาประเทศตะวันตกพึ่งพาอาศัยจีนค่อนข้างมาก  สินค้าต่างๆที่ประชาชนชื่นชอบราคาถูกก็มาจากจีน  และจีนก็มีเงินมากที่จะไปซื้อสินค้าจากประเทศนั้นเช่นเนื้อวัวจากออสเตรเลีย  จีนซื้อรายเดียวแทบจะเหมาหมด  พอไปทะเลาะกับจีนแล้วจีนประกาศไม่ซื้อก็ส่งผลให้ตลาดพังยับเยิน

การประชุมออนไลน์กับผู้แทน110ประเทศประชาธิปไตยที่ไม่มีไทยเข้าร่วม

 

7.เรื่องสิทธิมนุษยชนที่สหรัฐฯยกมาอ้างนั้น  ต้องคิดว่าแต่ละประเทศต่างมีประวัติศาสตร์ของเขา  ยกตัวอย่างประเทศอิรัก  แต่เดิมบรรยากาศเขาไม่เหมือนประชาธิปไตยแบบอเมริกาแต่เขาก็อยู่ได้เพราะซัดดัม ฮุสเซน จะปกครองในรูปแบบของเขา  แล้วสหรัฐฯบุกเข้าไปยึดประเทศเขาฆ่าผู้นำเขาตายอ้างสารพัดเหตุผล  พอได้ประโยชน์มากพอแล้วถอนออก  อิรักวันนี้กลายเป็นรัฐล้มเหลว  หรือกรณีอัฟกานิสถานก็เช่นเดียวกัน   ภาพพจน์ของการไปข่มเหงรังแกชาติอื่นแบบนี้ทำให้คนอเมริกันดีๆเขาก็ด่าผู้นำของเขาเหมือนกัน

ถ้าสหรัฐอเมริกายกเอาเรื่องสิทธิมนุษยชนมากล่าวหาชาติอื่น  ฝ่ายตรงข้ามก็ประณามอเมริกาได้อีกเยอะ  เพราะประวัติศาสตร์สหรัฐฯก็เริ่มต้นจากการทำร้ายทำลายสิทธิมนุษยชนของคนอื่น  ไปซื้อทาสจากแอฟริกา  คนไหนป่วยหรืออ่อนแอก็ถีบทิ้งทะเล  เหตุการณ์ผ่านมาจนวันนี้คนผิวดำในสหรัฐฯก็ยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำกับคนผิวขาว  เดี๋ยวนี้หลายเมืองมีปัญหาความอดอยากถึงขนาดบุกเข้าปล้นห้าง ร้านค้า  ตำรวจออกมาจับบ้าง ไม่จับบ้าง

การจะประณามประเทศไหนเรื่องสิทธิมนุษยชนต้องระวัง  เพราะแต่ละแห่งมีประวัติศาสตร์ของตนเอง   เวลาเราชี้ไปว่าใครผิด ใครเลว ใครชั่วนั้น  หนึ่งนิ้วชี้ไปคนอื่น  แต่อีก4นิ้วที่เหลือชี้กลับมาที่ตัวเอง

การ์ตูนล้อเลียนจากโกบอล​ ไทม์ส

 

8.กรณีเมียนมาที่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดของไทย  จีนสนับสนุนแต่สหรัฐฯต่อต้าน  ไทยควรแสดงจุดยืนว่าด้านความสัมพันธ์ที่ผ่านมานั้นมีความใกล้ชิดเหมือนญาติพี่น้อง  เราต้องแสดงออกด้านมนุษยธรรม ช่วยเหลือคนที่เดือดร้อนไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนก็ตาม  โดยเฉพาะเราทั้งคู่เป็นเมืองพุทธ  ยิ่งไปกว่านั้นทุกวันนี้สังคมและเศรษฐกิจไทยอาศัยแรงงานชาวเมียนมาไม่น้อย  แต่ขณะเดียวกันการจะยอมรับนับถือเป็นทางการก็ต้องเคารพกติกาของอาเซียน  เพราะเราจะทำมากกว่านั้นไม่ได้

9.ผลสรุปของการประชุมซัมมิทประชาธิปไตย  ตามประสาคนจัดก็ต้องบอกถึงผลสำเร็จของงาน  แต่คงไม่มีผลจริงจังต่อการเปลี่ยนแปลงใดๆเพราะมิใช่การประชุมทางการแบบประชุมสหประชาชาติ  ประชุมสหภาพยุโรป  ประชุมอาเซียน  หรือแม้แต่ World Economic Forum  แต่งานนี้เหมือนเอ็นจีโอที่กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯสนับสนุน  เป็นงานที่สนองความคิดโจ ไบเดน ว่าสหรัฐอเมริกายังเป็นผู้นำโลก  พูดจบแล้วก็หายไป  ถ้ามองว่าเป็นการหาแนวร่วมล้อมจีนหรือต่อต้านจีนแล้วก็ยิ่งไม่มีผลอะไรเป็นรูปธรรม

สำหรับประเทศไทยที่ไม่ได้ร่วมประชุม  ควรแสดงความมั่นใจในความเป็นไทย  อย่าไปหวังพึ่งใคร  ต้องพึ่งตัวเอง 

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *