20/04/2024

ไทย-จีน-ไต้หวัน

โลกของจีน / ชัยวัฒน์ วนิชวัฒนะ

ไทย-จีน-ไต้หวัน

          เมื่อปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ไช่ อิงเหวิน ได้ทำพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีของไต้หวันเป็นสมัยที่สอง  หลังชนะการเลือกตั้งเมื่อต้นปีด้วยคะแนนเสียงถล่มทลายกว่า 8 ล้านเสียง

          ชัยชนะของไช่ อิงเหวิน ในปี 2020 หรือสมัยแรกปี 2016 ก็เหมือนชัยชนะของ เฉิน สุยเปี่ยน ในปี2001 และปี 2004 ที่ชูนโยบายให้ไต้หวันเป็นเอกราชจากจีน

          เรียกว่าขี่กระแสเอกราช อธิปไตย  พร้อมโหนกระแสม็อบฮ่องกงที่กำลังขัดแย้งกับจีนแผ่นดินใหญ่         

          ไช่ อิงเหวิน ยังประกาศสนับสนุนม็อบฮ่องกงที่ออกมาต่อต้านกฎหมายความมั่นคงฮ่องกง   โดยบอกว่าไต้หวันจะจัดตั้งองค์กรเฉพาะขึ้นมาช่วยเหลือชาวฮ่องกง ทั้งด้านที่อยู่ ที่กิน และอาชีพการงาน 

          การเคลื่อนไหวของผู้นำไต้หวันยังเป็นการแสดงความท้าทายแบบเดิมๆที่มีต่อจีนแผ่นดินใหญ่ที่ประกาศต่อทั้งโลกว่าไต้หวันคือ “มณฑล” หนึ่งของจีน

          นั่นทำให้การประชุมครบรอบ 15 ปี การบังคับใช้กฎหมายห้ามแยกประเทศ (Anti-Secession Law) ณ มหาศาลาประชาชนในกรุงปักกิ่งเมื่อไม่กี่วันก่อน  มีการส่งเสียงออกมาว่า  “หากไทเปประกาศแยกตัวเมื่อไรก็ต้องเจอกับกองทัพปลดปล่อยประชาชนจีนแน่นอน”

          นี่เป็นประเด็นที่ได้หยิบยกเอาความสัมพันธ์ ไทย-จีน-ไต้หวัน มาเขียนในฉบับนี้  เพราะสอดคล้องกับช่วงปลายเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมาผู้เขียนได้ไปร่วมงานเสวนา “พันธมิตรชานม : ไทย-ไต้หวัน-จีน จะเดินทิศทางใดในยุคโซเชียลมีเดีย?” ซึ่งจัดโดย สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศประจำประเทศไทย(FCCT)

          ผู้ดำเนินรายการถามว่า  กระแสโลกโซเชียลมีเดีย  กระแสเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่หนุนประชาธิปไตยในฮ่องกงและไต้หวัน  จะมีผลให้รัฐบาลไทยต้องทบทวนความสัมพันธ์ทางการเมืองระหว่างประเทศหรือไม่

         ผู้เขียนบอกอย่ามองแค่ “พันธมิตรชานม”  แต่ให้มองความจริงหลายๆด้านนับตั้งแต่ขนาดพื้นที่ของจีนแผ่นดินใหญ่ 9.5 ล้าน ตร.กม. กับเกาะไต้หวันแค่ 3.5 หมื่น ตร.กม. ก็เทียบกันไม่ติด  ขนาดพลเมือง 1,400 ล้านคนบนแผ่นดินใหญ่  กับแค่ 25 ล้านคนบนเกาะ  หรือขนาดของเศรษฐกิจของจีนที่ใหญ่เป็นอันดับ2ของโลก  แต่บางคนว่าแซงสหรัฐอเมริกาไปแล้ว  ขณะที่ไต้หวันมีเศรษฐกิจอยู่ในอันดับ 14 ของโลก

          เปรียบเทียบยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจ  ของจีนวันนี้ที่โดดเด่นคือ หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง (One Belt One Road) ที่เชื่อมจีนกับโลก ทั้งยุโรปและเอเชีย นับถึงวันนี้น่าจะมีประเทศ 70 ประเทศเข้าร่วม  ส่วนของไต้หวันคือ “ยุทธศาสตร์มุ่งใต้” (New Southbound Policy) เป็นนโยบายลดการพึ่งพาจีน  มุ่งอาเซียน เอเชียใต้ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

         มองด้านความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจไทย-ไต้หวัน  แต่ละปีมีการค้าขายกันในระดับ 4 แสนล้านบาท  นักท่องเที่ยวไต้หวันมาเที่ยวไทยปีละประมาณ 6-7 แสนคน  เทียบกับการค้าไทย-จีน ปี 2562 มีมูลค่าประมาณ 2.5 ล้านล้านบาท  จีนเป็นคู่ค้าอันดับ 1 ของไทย  ปีที่แล้วนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทย 11 ล้านคน สร้างรายได้ประมาณ 5-6 แสนล้านบาท จากรายได้รวมด้านการท่องเที่ยว 2 ล้านล้านบาท

          แค่รายได้จากการท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่อย่างเดียวก็มากกว่าตัวเขการค้าไต้หวันทั้งปี อย่างนี้คิดว่ารัฐบาลไทยจะเลือกใคร?

          ความจริงรัฐบาลไทยก็ตัดสินใจเลือกมาตั้งนานแล้ว  จากประวัติศาสตร์การเมืองที่สมัยหนึ่งไทยเคยมีความสัมพันธ์ทางการทูตกับไต้หวัน  แต่เมื่อโลกเปลี่ยน  สหประชาชาติหันมารับรองสาธารณรัฐประชาชนจีน  ไทยซึ่งเป็นสมาชิกสหประชาชาติก็ต้องเปลี่ยนนโยบายมาผูกสัมพันธ์ทางการทูตกับสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2518 สมัยรัฐบาลม.รว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เป็นนายกรัฐมนตรี

         ความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านการทูตจะครบรอบ 45 ปีในวันที่ 1 กรกฎาคม 2563

          ส่วนความสัมพันธ์ไทย-ไต้หวัน แม้ไม่มีทางการเมือง  แต่ก็เติบโตแน่นแฟ้นในด้านการค้าระหว่างนักธุรกิจ  และด้านสังคมวัฒนธรรมจากการไปมาหาสู่ของประชาชนไทย-ไต้หวัน

         มีข้อสงสัยว่าความขัดแข้งระหว่างจีนกับไต้หวันโดยมีสหรัฐอเมริกาคอยแทรกแซงจะรุนแรงขึ้นกลายเป็นสงครามไหม

         ผู้เขียนตอบว่า ทุกวันนี้ก็รบกันอยู่แล้วในรูปแบบ “สงครามไซเบอร์” หรือสงครามดิจิทัลที่ไม่ต้องใช้กำลังทหารให้เสียเลือดเนื้อ  แต่เป็นนสงครามข้อมูลข่าวสารที่แต่ละฝ่ายพยายามแทรกแซงข้อมูล  ฉกข้อมูล  บิดเบือน หรือสร้างข่าว  เพื่อสร้างอิทธิพลต่อความคิดเห็นสาธารณะ

          ตัวอย่างของสงครามไซเบอร์คือจีนกับสหรัฐอเมริกา  ที่ทะเลาะกันรุนแรงกว่า  ขู่กันไปมาจนน้ำลายแตกฟอง  ล่าสุดอเมริกาโม้ว่ามีมิสไซน์ความเร็วเหนือเสียง  ฝ่ายจีนก็บอกมีกองทัพ 2 ล้านคน มีขีปนาวุธต่งเฟิง  มีเรือดำน้ำนิวเคลียร์

          แต่เชื่อเถอะว่าแค่เอาไว้โชว์เอาไว้ข่มขวัญ  ไม่มีใครกล้ายิงก่อนเพราะหมายถึงหายนะทั้งสองฝ่าย  สู้ใช้ทวิตเตอร์โจมตีได้ไวกว่าและเป็นข่าวไปทั่วโลก

          วิทยากรที่ร่วมเสวนาในเวทีเดียวกันอีกท่านคือ รศ.ดร.สิทธิพล เครือรัฐติกาล ผู้อำนวยการสถาบันเอเชียตะวันออกศึกษา  และอาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ให้ความเห็นว่าเพียงกระแสชั่วคราวทางโซเชียลมีเดียไม่อาจมีผลต่อการเปลี่ยนท่าทีหรือความสัมพันธ์ไทย-จีนแน่นอน

         ขณะเดียวกันจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีนโยบายที่แน่ชัดเรื่อง “จีนเดียว”  ฮ่องกงและไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญที่ผู้นำจีนให้พันธสัญญากับชาวจีนไว้แล้ว่า  นี่คือภารกิจศักดิ์สิทธิ์  ขนาดเขียนไว้ในรัฐธรรมนูญจีนในส่วนอารัมภบทว่า

          “ไต้หวันเป็นดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน  ประชาชนจีนทั้งปวงมีหน้าที่ต้องร่วมแรงร่วมใจดึงไต้หวันสู่ปิตุภูมิ”

          น่าจะเป็นคำตอบของคำถามทั้งมวล          

…………………………………………………………………………………………………..

หมายเหตุ : ลงตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ อปท.นิวส์  ปีที่ 13 ฉบับที่ 334 วันที่ 16-30 มิถุนายน

พ.ศ.2563

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *